Education

นักเรียนไทยสวมบทนักนิติวิทยาศาสตร์ ช่วยตำรวจตรวจสอบ นำคนร้ายมารับโทษ

ม.ค. 26,2023

หากคุณเคยดูภาพยนตร์แนวสืบสวนหรือปริศนาฆาตรกรรม เชื่อว่าหลายท่านต้องจดจ่อกับเนื้อเรื่องจนไม่อยากลุกออกไปจากหน้าจอ เพราะคอยลุ้นกระบวนการสืบเสาะหาความจริงของตัวละครทีละขั้นทีละตอน สิ่งหนึ่งเรามักเห็นบ่อยๆ คือตัวละครจะค้นพบคราบเลือดหยดบนพื้น ซึ่งร่องรอยเหล่านี้เองถือเป็นหลักฐานในกระบวนการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ และเป็นกุญแจสำคัญในการไขปริศนา นำไปสู่การจับคนผิดมาลงโทษในที่สุด

เรื่องดังกล่าวดูเหมือนว่าจะไกลจากชีวิตจริงของพวกเรา แต่จริงแล้วหลักสูตรวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ก็ได้เน้นให้นักเรียนฝึกคิดวิเคราะห์แก้ไขปัญหาทีละขั้นตอน คล้ายกับการประติดประต่อร่องรอยจากภาพยนตร์แนวสืบสวน คีนันฯ ประยุกต์สถานการณ์ดังกล่าวมาสร้างบทเรียนวิทยาศาสตร์ที่น่าตื่นเต้น กระตุ้นให้เด็กไทยฝึกคิด เรียนรู้แนวคิดและกระบวนการเชิงวิทยาศาสตร์ ภายในเวลาเพียงสองชั่วโมง นักเรียนจะได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน เรื่อง “การแยกสารผสม” เพื่อให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ได้ฝึกทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า “โครมาโทกราฟี” เพื่อแยกสารผสมออกจากกัน ดูเหมือนเป็นเรื่องยากหากคุณไม่เคยเรียนวิชาเคมี แต่ในความเป็นจริงก็คือ สสารหรือสิ่งต่าง ๆ ส่วนใหญ่บนโลกนี้ล้วนเกิดจากการรวมกันของสารหลายชนิดเข้าด้วยกันนั่นเอง

ลองนึกถึงน้ำทะเล เมื่อเราไปว่ายน้ำในทะเล เราจะไม่เห็น หรือรู้สึกว่ามีเม็ดเกลืออยู่นั่นเพราะเม็ดเกลือเหล่านั้นละลายในน้ำ และกลายเป็นน้ำทะเลไปเรียบร้อยแล้ว แต่หากคุณลองลืมตาใต้น้ำทะเลคุณจะรู้สึกแสบตาทันทีซึ่งสะท้อนความจริงว่ามีเม็ดเกลือจำนวนมากละลายอยู่ในน้ำทะเลอย่างแน่นอน

Student, kids, learning, stem skills, 21st century skills“โครมาโทกราฟี” กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังต่อการยับยั้งแผนการร้าย ของผู้ร้ายในภาพยนตร์แนวสืบสวน เทคนิคดังกล่าวถูกนำไปใช้เพื่อช่วยไขปริศนาด้านอาชญากรรมในหลากหลายรูปแบบ เช่น การวางระเบิด หรือ การปล้นธนาคาร เป็นต้น ในแต่ละปีนักเรียนจากโรงเรียนในเครือข่ายของคีนันจะมีโอกาสเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานในการทำการทดลองโครมาโทกราฟี และยังได้ทดลองใช้โครมาโทกราฟีจริงเพื่อสืบหาร่องรอยจากรูปแบบกิจกรรมจำลองอีกด้วย นักเรียนจะได้เรียนรู้วิธีการแยกสีย้อมต่างๆ ออกจากสีปากกาเมจิกด้วยเทคนิคโครมาโทกราฟีแบบกระดาษ การทดลองด้วยวิธีการที่ง่าย ขั้นแรกเด็กๆจะวาดจุดวงกลมด้วยปากกาเมจิกแต่ละสีลงบนกระดาษโครมาโทกราฟี (สามารถใช้กระดาษกรองกาแฟแทนได้) จากนั้น วางกระดาษโครมาโทกราฟีที่มีจุดสีลงในบีกเกอร์ที่มีน้ำสูงประมาณ 3 มิลลิเมตร จากนั้นในเวลาเพียงไม่กี่นาที สีย้อมแต่ละตัว (ตัวละลาย) ที่ผสมกันจะแยกออกจากกันเมื่อสัมผัสกับน้ำในบีกเกอร์ สีต่างๆ เหล่านั้นจะที่เคลื่อนที่ผ่านกระดาษ และสร้างลวดลายคล้ายเส้นสายรุ้งเมื่อน้ำเคลื่อนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งไปกว่านั้นนักเรียนยังสามารถสังเกตได้ว่าสีย้อมบางสีสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าสีอื่นๆ เนื่องจากความสามารถในการดูดซับสูงกว่าสีที่เคลื่อนที่ช้ากว่านั่นเอง

หลังจากที่นักเรียนมีความในเข้าใจวิทยาศาสตร์พื้นฐานแล้ว บทเรียนที่น่าเบื่อก็จะเปลี่ยนไปเป็นความสนุก นักเรียนจะได้รับบทบาทเป็นนักนิติวิทยาศาสตร์ในสถานการณ์จำลองเพื่อให้สืบหาว่าใครคือผู้ร้ายปลอมเช็คธนาคาร โดยตำรวจมีผู้ต้องสงสัยจำนวนสามคน ซึ่งทุกคนถูกตรวจพบปากกาสีดำ นักเรียนแต่ละคนจะได้รับ “โครมาโตแกรม” (Chromatogram) จากหมึกที่นำไปเขียนลงบนเช็คปลอม หลังจากนั้นนักเรียนจะต้องทดสอบปากกาของผู้ต้องสงสัยแต่ละรายเพื่อตรวจดูว่าตรงกับหมึกบนเช็คหรือไม่ เพราะผู้ผลิตปากกาแต่ละรายใช้ส่วนผสมที่แตกต่างกันในการทำหมึก ซึ่งหมายความว่าปากกาแต่ละด้ามจะสร้างลวดลายที่แตกต่างบนกระดาษโครมาโทกราฟี หากนักเรียนสามารถหา “โครมาโตแกรม” ที่ตรงกับหมึกที่ใช้ในการเขียนเช็คปลอมได้ก็จะสามารถระบุตัวคนร้ายได้อย่างแม่นยำ และนี่คือเทคนิคเดียวกับผู้ตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ใช้หาร่องรอยคดีอาชญากรรม ทั้งนี้ยังสามารถนำเทคนิคนี้ไปใช้ทดสอบผลิตภัณฑ์ยาใหม่ ๆ รวมถึงการตรวจวัดการปนเปื้อนของมลพิษทางน้ำอีกด้วย

การแยกสารละลาย เป็นกิจกรรมการเรียนวิทยาศาสตร์ที่สอนให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นการสร้างทักษะวิทยาศาสตร์พื้นฐานแก่นักเรียนได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่โลกแห่งการทำงานในศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่านักเรียนของเราทุกคนจะได้เป็นผู้ตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ แต่ด้วยทักษะและองค์ความรู้ที่นักเรียนได้รับจะกลายเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างโอกาสการทำงานต่อไปในอนาคต แต่ก็ไม่แน่นะคะว่าในอนาคตอาจมีนักเรียนที่เราสอน เติบโตและกลายเป็นเชอร์ล็อก โฮล์มส์ในชีวิตจริงก็ได้

หากท่านต้องการมีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาไทยไปด้วยกัน โปรดติดต่อเราหรือตอบกลับอีเมลล์ฉบับนี้ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับงานต่าง ๆ ของคีนันในการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านเว็บไซต์ www.kenan-asia.org/teacher-professional-development

Share this article

Latest.

People at Kenan: คุณจารุศรี จิรวิสิฐกุล

การศึกษาคือรากฐานสำคัญของ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ