วัตถุทรงกลมขนาดลูกเทนนิสกลิ้งไปมาอยู่บนพื้น แล้วก็หมุนกลับเป็นมุมฉากอย่างคล่องแคล่วราวกับมีชีวิต จากนั้นก็เคลื่อนต่อไปตามสติ๊กเกอร์แถบสีแดงบนพื้น โดยมีเด็กชาย 3 คนในชุดเครื่องแบบนักเรียนกำลังเพ่งมองไปที่ลูกบอลอย่างจดจ่ออยู่ด้านหลัง หุ่นยนต์ขนาดลูกเทนนิสกลิ้งไปข้างหน้าตามเส้นทางที่กำหนดไว้ แล้วหยุดเมื่ออยู่บนจุดหมายปลายทางที่ทีมงานติดสติกเกอร์ไว้ ราวกับลูกกอล์ฟที่จ่ออยู่ตรงปากหลุม เด็ก ๆ กระโดดตัวลอยและส่งเสียงดังด้วยความดีใจเมื่อพวกเขาทำสำเร็จ เด็ก ๆ ได้เขียนโปรแกรมเพื่อสั่งการหุ่นยนต์ให้เคลื่อนไปตามเส้นทางที่มีสิ่งกีดขวาง และหยุดบนสติ๊กเกอร์ได้ตามที่ตั้งใจ
จากเรื่องราวข้างต้น คุณอาจจะคิดว่าเรากำลังดูเด็กนักเรียนทำกิจกรรมในค่ายของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ แต่ไม่ใช่เลย เพราะจริงแล้วนี่คือกิจกรรมที่เกิดขึ้นในระหว่าง “ค่ายอินโนเวชั่นของคีนัน” ที่จัดขึ้นสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา ที่โรงเรียนวัดแหลมฟ้าผ่า ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสในจังหวัดสมุทรปราการ
จากข่าวแนวโน้มการปรับตัวของภาคธุรกิจและสถานการณ์ปัจจุบัน การเขียนโปรแกรมและการคิดคำนวณนับเป็นทักษะที่สำคัญของสาขาอาชีพใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในทศวรรษหน้า อาชีพต่าง ๆ ในตอนนี้ เช่น นักบัญชี เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล และกลุ่มพนักงานปฎิบัติการต่าง ๆ ต้องเผชิญกับความท้าทายที่จะถูกทดแทนด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้นนักเรียนจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและเตรียมพร้อมด้านศักยภาพด้านดิจิทัล ทักษะด้านสะเต็ม และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อให้สามารถมีอาชีพและดำเนินชีวิตสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต
น่าเสียดายที่การเรียนการสอนของไทยในหลาย ๆ โรงเรียนกลับไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างเต็มที่ มูลนิธิคีนันฯ ได้พยายามผลักดันให้มีการแก้ปัญหานี้อย่างต่อเนื่องกว่าทศวรรษ โดยนำหลักสูตร ที่เกี่ยวข้องกับสะเต็มศึกษา (STEM) จากนานาชาติมาปรับใช้ในประเทศไทย เพื่อยกระดับทักษะวิชาชีพครูให้มีประสิทธิภาพ เข้าใจบริบทของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงพลวัต เราสร้างสรรค์หลักสูตรสำหรับพัฒนาทักษะด้านการเขียนโปรแกรม โดยผสานส่งเสริมทักษะการคิดคำนวณ อันเป็นทักษะพื้นฐานให้แก่นักเรียนไทยเกิดความคุ้นเคยต่อการคิดเชิงคำนวณ โดยดำเนินงานให้สอดคล้องกับระบบการเรียนการสอนในสถานศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนโดยหวังว่านักเรียนจะมีโอกาสเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง
กระบวนการบ่มเพาะทักษะการเขียนโค้ด ของคีนันมี 2 รูปแบบ
1) การเขียนโปรแกรมแบบบล็อก: ความน่าสนใจของการใช้บล็อกโปรแกรมแบบลาก-วาง คือ การนำแนวคิดของการเขียนโปรแกรมที่สามารถเรียนรู้และสั่งการทำงานได้อย่างง่าย ผ่านรูปแบบอินเตอร์เฟซที่เป็นจินตภาพแทนที่จะเป็นภาษารหัสอย่างเช่นการเขียนโปรแกรมที่มีความซับซ้อนสูง เช่น JavaScript, Python, and HTML ที่โปรแกรมเหล่านั้นมีผู้เชี่ยวชาญในการเขียนโปรแกรมใช้กัน
ตัวอย่างการเขียนโค้ดจากรูปด้านขวามือ หลังจากที่เห็นการเขียนโปรแกรมแล้ว คุณสามารถคาดการณ์ได้เลยว่ามีความซับซ้อน และยุ่งยาก สร้างความรู้สึกกลัว และท้อต่อการทำความเข้าใจของเด็กๆ ที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้
ค่ายอินโนเวชั่นของเรา เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลองเขียนโปรแกรมแบบบล็อก เพื่อให้ความเข้าใจหลักการสำคัญ ๆ ในขณะที่นักเรียนรู้สึกเพลิดเพลิน และเปิดรับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ ไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ยากเกินความสามารถหรือน่ากลัวอย่างที่คิด ดังเช่นเรื่องราวที่พวกเขาสั่งการหุ่นยนต์เคลื่อนที่ออกจากเขาวงกตในตอนต้นของบทความ นั่นคือผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมอันเกิดจากการเรียนรู้ในระหว่างการเขียนโปรแกรมของกลุ่มเด็กนักเรียน
การเขียนโค้ดแบบบล็อกแตกต่างจากการเขียนโปรแกรมปกติ คือ มีความเพลิดเพลิน กระตุ้นความสนใจของนักเรียน รวมทั้งยังสร้างโอกาสเข้าถึงได้องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่แม้เด็กที่มีประสบการณ์ใช้งานคอมพิวเตอร์ไม่มากก็สามารถเรียนรู้และเข้าใจหลักการเขียนโค้ดได้ “ค่ายอินโนเวชั่น” ของเรามอบประสบการณ์ให้นักเรียนใช้แอปพลิเคชันบนแท็บเล็ต สามารถลากและวางบล็อกเพื่อสั่งการหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่ไปตามทิศทางที่กำหนดไว้ เมื่อตั้งคำสั่งทิศทางต่าง ๆ ตามลำดับเสร็จแล้ว นักเรียนจะกดปุ่มสตาร์ทเพื่อให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ตามคำสั่งที่ตั้งไว้ หากหุ่นยนต์ไม่สามารถเคลื่อนที่ไปตามที่กำหนด เด็ก ๆ ก็จะต้องคิดหาทางแก้ปัญหาเพื่อปรับโค้ดคำสั่ง กระบวนการเรียนรู้นี้ง่ายพอๆ การสร้างปราสาทจาก ตัวต่อ Lego ทั้งยังสร้างผลลัพธ์ที่น่าทึ่งอีกด้วย
2) การเขียนโปรแกรมแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์: เป็นการสอนแนวคิดเชิงวิทยาการด้านคอมพิวเตอร์ในระดับประถมศึกษา ที่ประหยัดงบประมาณและลดข้อจำกัดต่อการทำกิจกรรมลง วิธีการนี้เหมาะสำหรับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่มักขาดโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ทักษะที่สำคัญเหล่านี้
เพื่อรับมือต่อความท้าทายที่เกิดขึ้น มูลนิธิคีนันภายใต้โครงการยกระดับการเรียนรู้ด้วยการใช้โครงงานเป็นฐาน (E-PBL) ฝึกอบรมครูผู้สอนในโรงเรียนประถมศึกษาให้ทดลองใช้ “การเขียนโค้ดแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์” จุดประกายความอยากเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งยังสนุกสนาน ภายใต้งบประมาณ และค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากนัก การเขียนโค้ดไม่จำเป็นต้องซับซ้อน หัวใจสำคัญของการเขียนโค้ด คือ ชุดคำสั่งเพื่อกำหนดทิศทางให้กับคอมพิวเตอร์ เพียงแค่คุณคิดว่ามันเป็นเหมือนสูตรอาหารจานโปรดที่คุณสามารถเพิ่ม หรือเรียงลำดับขั้นตอนการปรุงส่วนผสมต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ท้ายที่สุดผลลัพธ์ที่ออกมากก็น่าทึ่ง มีประโยชน์ และอร่อยอีกด้วย
ภายใต้โครงการยกระดับการเรียนรู้ด้วยการใช้โครงงานเป็นฐาน (E-PBL) ของเรา ครูจะได้เรียนรู้วิธีการจัดการเรียนการสอนที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมของนักเรียนในกิจกรรมการเขียนโปรแกรมที่ ‘ไร้คอมพิวเตอร์’ เด็ก ๆ จะจิตนาการและเห็นภาพจำลอง รวมทั้งเข้าใจความสำคัญของหลักการของการเขียนโค้ด
ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ E-PBL เมื่อปีที่แล้ว เราได้แนะนำให้ คุณครูวิสุทธิ์ นามโท และครูอีกหลายร้อยคนได้รู้จักกับเกมส์ง่าย ๆ ที่นักเรียนได้ใช้คำแนะนำที่เป็นชุดคำสั่งให้กับเพื่อนในชั้นเรียนได้ทำตาม เพื่อค้นหารางวัลที่ซ่อนอยู่ในห้องที่เต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางต่าง ๆ นักเรียนต้องช่วยกันพัฒนาคำสั่งในการเคลื่อนที่ที่แม่นยำ (เช่นก้าวไปข้างหน้า 12 ก้าว เลี้ยวซ้าย 45 องศา เป็นต้น) เพื่อนำทางเพื่อนให้เดินไปรอบ ๆ เก้าอี้และโต๊ะที่เป็นสิ่งกีดขวาง เพื่อก้าวสู่รางวัลได้อย่างสำเร็จ
การเขียนโปรแกรมแบบบล็อก และการเขียนโปรแกรมแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์ นับเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับช่วยให้เยาวชน เริ่มมีกระบวนการคิดที่เหมือนกับนักโปรแกรมเมอร์ การเรียนรู้อาจจะดูง่าย ไม่ซับซ้อน แต่นี่เป็นประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า ที่แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) ก็ใช้บ่มเพาะนักเรียนที่เรียนในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยใช้การเขียนโปรแกรมแบบบล็อกมาเป็นฐานคิด ก่อนที่จะพัฒนาเป็นการเขียนโค้ดสำหรับโปรแกรมโดยใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ระดับสูง วิธีการสอนของเราทำให้นักเรียนสามารถคิดเชิงคำนวณ คิดวิเคราะห์และคิดเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้พวกเขามีโอกาสในการเรียนรู้ทักษะการเขียนโปรแกรมขั้นสูงโดยไม่รู้สึกกลัวอีกต่อไป