Education

ปั้นนักเรียนเป็นเมกเกอร์ (ตอนที่ 1: ทำความรู้จักกับเมกเกอร์ มนุษย์พลังสะเต็มของอนาคต)

ม.ค. 26,2023

กระแสกิจกรรมเมกเกอร์กำลังกลายเป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ในหลายจังหวัดอย่างกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ต่างมีการรวมตัวของนักสร้างสรรค์ที่เรียกตัวเองว่า “เมกเกอร์” (Maker) เพื่อใช้เวลาว่างจากการทำงานหรือการเรียนมาประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็น โดรนจิ๋ว หุ่นยนต์ประกอบร่างเอง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ แอพลิเคชั่นสำหรับโทรศัพท์มือถือ และอีกมากมายหลากหลายอย่าง ตามแนวถนัดของแต่ละคน ชอบอะไรก็สร้างขึ้นมากับมือของตนเองเลย จะนำมาใช้งาน ทำเป็นของเล่น หรือต่อยอดเป็นสินค้าก็ตามแต่เป้าหมายของเมกเกอร์  แล้วแบ่งปันเทคนิคการสร้างสรรค์ของตนเองให้คนอื่นกันฟรีๆ ไม่ว่าจะผ่านโซเชียลมีเดีย หรือจับกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยน  หรือร่วมกันพัฒนาด้วยกันก็ตาม

“เมกเกอร์” ใครๆ ก็เป็นได้

แม้ว่าคำว่า “เมกเกอร์” จะเป็นคำใหม่ที่คุ้นหูกันไม่นานแต่อันที่จริงโดยความหมายแล้วนั้นอาจจะไม่ได้แตกต่างกับ นักประดิษฐ์ ช่าง ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่คลุกอยู่กับชิ้นงานอันสร้างสรรค์จากแรงบันดาลใจของตนเอง ลองนึกถึงตอนเด็กๆ ผมเชื่อว่าทุกคนต่างต้องเคยทำของเล่นตามจินตนาการเป็นของตนเองอย่างแน่นอน หรือทำของใช้ง่ายๆ ไว้ใช้เองในบ้าน ทักษะแบบนี้เป็นจุดเริ่มของ วัฒนธรรมเมกเกอร์ (Maker Culture) ที่เริ่มต้นจากสิ่งประดิษฐ์ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ซึ่งต่อมาเมื่อก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่สนใจได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมโอเพนซอร์ส ที่หาดาวน์โหลดได้ทุกที่ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ เครื่องพิมพ์สามมิติที่มีราคาถูกลงที่สามารถเป็นเจ้าของได้เองง่ายขึ้น ประกอบกับการเข้าถึงความแหล่งข้อมูลความรู้อย่างรอบด้าน แหล่งวัตถุดิบอันหลากหลายจากทั่วโลกที่สามารถส่งตรงถึงหน้าบ้านของเมกเกอร์ได้ไม่ยากนัก ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัด เพียงแค่ให้ใจในที่จะ “คิด-ทำ-แบ่งปัน” ให้สำเร็จแค่นั้น

พร้อมปั้นนักเรียนเป็นเมกเกอร์

หากลองดูกิจกรรมการเรียนรู้ในปัจจุบันของนักเรียน ดูเหมือนว่าความเป็นเมกเกอร์ ในโรงเรียนอาจจะยังพบไม่มากนัก แต่อย่างน้อยยังโชคดีที่นักเรียนยังพอได้โอกาสฝึกทักษะหยิบจับเครื่องไม้เครื่องมือในวิชากลุ่มการงานอาชีพและเทคโนโลยี

แต่อันที่จริงแล้วการฝึกให้นักเรียนได้ลองเปลี่ยนบทบาทตัวเองจากผู้เรียนเป็นผู้สร้าง ผสมเรื่องที่ทันสมัยและใกล้ตัวนักเรียน จะเชื้อเชิญให้นักเรียนสนใจ อีกทั้งยังเพิ่มความท้าทายให้กับนักเรียนได้อย่างสนุกสนาน พร้อมกับอาศัยองค์ความรู้ในหลากหลายสาขาของสะเต็ม ประกอบกับทักษะในการใช้เครื่องมือควบคู่กันไป ยกตัวอย่างเช่น แม้จะเป็นการประกอบโดรนตัวเล็กๆ แต่ นักเรียนจะสามารถได้เรียนรู้เรื่องการออกแบบและปรับปรุงแบบของตัวเครื่อง ปีก หรือโครงสร้างของโดน หลักอากาศพลศาสตร์อย่างง่าย การเลือกใช้วัสดุ การต่อวงจรไฟฟ้า การคำนวณหรือการออกแบบโปรแกรมควบคุมแบบไร้สาย เป็นต้น

นี่เพียงแค่กิจกรรมเดียวนักเรียนจะได้เรียนรู้ไปพร้อมกับความสุขในการประดิษฐ์ในสิ่งที่เขาสนใจเอง ลองจินตนาการว่าหากนักเรียนได้เรียนรู้ตามความสนใจของเขาเองที่หลากหลาย และยิ่งหากเขาได้แบ่งปันความรู้นี้ไปยังเพื่อนๆ ที่สนใจในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ผมเชื่อมั่นว่าคุณครูน่าจะสามารถกระตุ้นการต่อยอดการเรียนรู้และดึงความสนใจของนักเรียนให้ขยายความรู้ของเขาต่อไปอย่างเนื่องร่วมกัน อีกทั้งทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สื่อสาร หรือทักษะอื่นๆ ที่ครูหมายปองอยากเห็นลูกศิษย์ในศตวรรษที่ 21 ประสบความสำเร็จก็คงจะไม่ยากเกินความสามารถของครูเช่นเดียวกัน

ในตอนที่ 1 นี้ผมอยากจะให้ทุกท่านได้รู้จักเบื้องต้นกับเมกเกอร์กันเสียก่อน ครั้งต่อไปผมจะนำเสนอเกี่ยวกับแนวทางในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเมกเกอร์ที่สามารถจัดได้ในโรงเรียนให้คุณครูได้ลอง “คิด-ทำ-แบ่งปัน” กันนะครับ

ผู้เขียน: นันทวุฒิ พิมพ์แพง  ที่ปรึกษา มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย

Share this article

Latest.

People at Kenan: คุณจารุศรี จิรวิสิฐกุล

การศึกษาคือรากฐานสำคัญของ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ