หากวันนี้ ครูยังคงสอนนักเรียนด้วยวิธีแบบเดิมที่ตนเคยได้รับมาในอดีต โดยยืนชี้กระดานดำอยู่หน้าชั้นเรียนแล้วให้นักเรียนอ่านตามหนังสือ ก็คงเป็นบรรยากาศการเรียนสมัยเก่าที่ล้าสมัยและขาดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษษ นักเรียนก็คงยากที่จะสร้างทักษะ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (สะเต็มศึกษา) รวมถึงพัฒนาทักษะที่เป็น Soft Skills อันจำเป็นต่อการใช้ชีวิต และยังเป็นทักษะที่ต้องการของตลาดแรงงานโลกในศตวรรษที่ 21
หากถามว่าเราจะรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างไร ผู้เชี่ยวชาญด้านสะเต็มศึกษาได้ให้ความเห็นกับคีนันว่า หากเราอยากเห็นนักเรียนไทยสามารถพัฒนาผลการเรียนให้ดียิ่งขึ้น ครูคือกลไกสำคัญที่สุดที่ต้องได้รับการพัฒนาก่อนเป็นลำดับแรก หลักสูตรการพัฒนาวิชาชีพครูจะต้องยกระดับและผสมผสานกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ครูเหล่านี้ควรได้รับคำแนะนำต่อการนำทักษะที่ได้รับไปใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครูแต่ละคนสามารถเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อย ไปจนสร้างเป็นทักษะของตนอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมาภาครัฐและภาคเอกชนต่างให้ความสำคัญต่อการเร่งพัฒนาครูและนักเรียนให้มีศักยภาพที่สอดรับกับสภาวะการณ์ปัจจุบัน เราพึงหันกลับไปทบทวนหลักสูตรโครงการพัฒนาวิชาชีพครูเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์กับนักเรียนได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และทักษะ 4C อันประกอบด้วย การสื่อสาร (Communications) การทำงานเป็นทีม (Collaborations) การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) โครงการพัฒนาวิชาชีพครูถือเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนมาโดยตลอด ด้วยมุ่งอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในวิชาชีพครู ทั้งเปิดโอกาสให้ครูได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นต่อไป กระทรวงศึกษาได้กำหนดนโยบายให้ครูแต่ละคนต้องผ่านการฝึกอบรม 100 ชั่วโมง ในเวลา 5 ปี โดยแบ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านการอบรมตามเนื้อหาหลักสูตรและการฝึกปฏิบัติจริง 60 ชั่วโมง และอีก 40 ชั่วโมงจะเป็นการเรียนรู้ผ่านการเข้าร่วมชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC)
การให้คำปรึกษาแก่ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ
เราตระหนักดีว่าการฝึกอบรมเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการพัฒนาการเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน ครูที่เพิ่งผ่านการฝึกอบรมจะต้องเผชิญกับท้าทายมากมายในการนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในห้องเรียนจริง แต่เนื่องด้วยงบประมาณที่จำกัด โครงการฝึกอบรม ฯ ส่วนใหญ่จึงไม่มีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง และมุ่งสร้างพัฒนาครูโดยเน้นจำนวนครูที่เข้ารับการฝึกอบรม มากกว่าสัมฤทธิ์การเรียนรู้สำหรับนักเรียนอันแสดงถึงผลลัพธ์ในระยะยาว ในอดีตการให้คำปรึกษาแบบรายบุคคลมักมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ปัจจุบันด้วยการนำรูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพมาใช้ในระบบการศึกษาไทย ไม่เพียงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเท่านั้น หากแต่ยังเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้ครูแบ่งปันประสบการณ์ของตนร่วมกับสมาชิกคนอื่น ๆ พร้อมทั้งร่วมกันมองหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมภายใต้คำแนะนำจากผู้ให้คำปรึกษาหรือวิทยากรที่มีประสบการณ์จริง ซึ่งกระบวนการนี้ได้รับการยอมรับและพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการพัฒนาการเรียนการสอน ช่วยครูรับมือกับความท้าทายในชั้นเรียน และเพิ่มความมั่นใจในการนำรูปแบบใหม่ ๆ มาใช้สอนนักเรียนในชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดหาสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ
สิ่งที่น่าเศร้าอย่างหนึ่งคือ หลังจบหลักสูตรฝึกอบรม ครูผู้สอนต่างอยากนำความรู้และวิธีการกลับไปถ่ายทอดแก่เด็กนักเรียนของตน แต่กลับพบว่าพวกเขาขาดสื่อและอุปกรณ์การสอนที่สามารถนำกลับไปในชั้นเรียนจริง เช่น ครูได้รับการอบรมเกี่ยวกับการทดลองทางฟิสิกส์เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ โดยใช้สื่อการเรียนการสอนที่ครบครัน แต่พอกลับไปชั้นเรียนกลับไม่มีอุปกรณ์ใด ๆให้นักเรียนได้ทดลองจริง เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ครูจำเป็นต้องทิ้งรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ที่ตนได้รับฝึกอบรมมา และหากครูผ่านการฝึกอบรมมาสักระยะ แล้วทางโรงเรียนยังไม่สามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้ได้ ก็คงยากที่ห้องเรียนจะปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนอย่างที่คาดหวัง ครูจึงจำเป็นต้องมีสื่อการเรียนการสอนที่พร้อมต่อการใช้สอนจริง มีคู่มือและแผนการสอนที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทันที คีนันมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพครูไทย ด้วยโครงการพัฒนาวิชาชีพครูโดยจัดหาสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ตรงตามข้อกำหนดหลักสูตรการศึกษาไทย เราหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้เติบโตไปพร้อมกับคนรุ่นใหม่ ที่จะก้าวมาเป็นกำลังสำคัญของชาติ พร้อมด้วยองค์ความรู้ด้านสะเต็มศึกษาและทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21
เนื้อหาสอดคล้องกับหลักสูตรในชั้นเรียนจริง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะมีรูปแบบการดำเนินโครงการที่ได้รับการยอมรับระดับสากล สร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่เป็นเลิศ ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด พร้อมมอบสื่อและวัสดุอุปกรณ์การสอนที่มีคุณภาพ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทหลักสูตรการศึกษาไทยให้ได้ ครูควรได้รับการฝึกอบรมในรูปแบบเดียวกับหลักสูตรที่สอนในชั้นเรียนจริง สิ่งที่เป็นความท้าทายสำหรับประเทศไทย เนื่องจากสื่อการสอนในชั้นเรียนของโรงเรียนรัฐหลายแห่ง ยังไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะเอื้อต่อผลลัพธ์การศึกษาขั้นสูง ทั้งนี้อุปสรรคสำคัญอีกประการคือการส่งเสริมและจูงใจให้ครูนำหลักสูตรที่ผ่านการฝึกอบรมมาใช้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้ เพราะหากหลักสูตรนั้นใช้เวลาสอนนานเกินไป หรือไม่สอดคล้องกับข้อบังคับจากกระทรวง ส่งผลให้ครูไทยเพียงบางส่วนเท่านั้นที่นำหลักสูตรเหล่านั้นมาปรับใช้สอนนักเรียนในชั้นเรียนแทนรูปแบบการเรียนการสอนเดิม ๆ
วิทยากรเพรียบพร้อมด้วยประสบการณ์เชิงลึ้กต่อการเป็นครูผู้สอน
โครงการพัฒนาวิชาชีพเริ่มต้นด้วยการจัดฝึกอบรมที่มีคุณภาพ ครูในสาขาวิชาสะเต็มศึกษา (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) ที่เคยผ่านการฝึกอบรมต่างทราบดีว่า ทุกการฝึกอบรมย่อมมีความแตกต่างกัน ทั้งขนาดของชั้นเรียน เนื้อหา สื่อการเรียนการสอน รวมถึงประสบการณ์ของวิทยากร ทำให้คุณภาพของการฝึกอบรมย่อมต่างกัน หลักสูตรที่ทันสมัย และโอกาสลงมือฝึกปฏิบัติจริง เป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาทักษะ 4C ให้เกิดผลสัมฤทธิ์กับนักเรียน รวมถึงอัตราส่วนของครูผู้สอนต่อนักเรียน และจำนวนชั่วโมงฝึกอบรมก็มีความสำคัญไม่น้อย วิทยากรผู้ฝึกอบรมจำต้องมีประสบการณ์โดยตรงต่อการสอนในชั้นเรียนจริง มีความยืดหยุ่นต่อการรับมือและสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน เข้าใจบริบท ความท้าทายที่เกิดขึ้นจากสอน สามารถให้คำแนะนำหรือไขข้อสงสัย จากครูท่านอื่น ๆ ได้
ถ้าคุณพร้อมที่จะสนับสนุนครู และร่วมกันเปลี่ยนแปลงอนาคตนักเรียนไทยไปกับเรา โปรดติดต่อเรา หรือศึกษาโครงการพัฒนาวิชาชีพครูสู่ศตวรรษที่ 21 ของคีนันได้ที่ www.kenan-asia.org/th/teacher-professional-development