Education

เปิดโลกการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 21

ม.ค. 26,2023

ประเทศไทยประสบกับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ อาทิเช่น ความท้าทายด้านเทคโนโลยี และความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ บริบทดังกล่าวทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัวในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว โดยสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงคือการพัฒนาบุคลากร และหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่สำคัญคือการเสริมสร้างทักษะการสอนที่ส่งเสริมทักษะ STEM และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อให้ครูสามารถผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง

มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียจึงร่วมกับ มูลนิธิไอวีแอล ส่งต่อโครงการ “การพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ของครูวิทยาศาสตร์ในระยอง ที่เกิดจากความมุ่งมั่นของมูลนิธิไอวีแอล ที่ประสงค์จะสร้างความร่วมมือและสนับสนุนการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนขยายโอกาสในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1  โดยมอบหมายให้มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียจัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการให้แก่ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ในด้านทฤษฎีการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับเนื้อหาการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และกระบวนการจัดการเรียนรู้แนวใหม่ โดยตลอดเวลา 3 ปีของการดำเนินงานโครงการ มีคุณครูเข้าร่วม 31 คน และนักเรียนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการจำนวน 4,650 คน

โครงการได้ปรับหลักสูตรสะเต็มศึกษาชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกาให้เข้ากับบริบทของห้องเรียนไทย เพื่อมุ่งเน้นให้คุณครูจัดการเรียนรู้ผ่านการสร้างกิจกรรมและการใช้กระบวนการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อสามารถต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมจากความรู้ที่นักเรียนเข้าใจอย่างถ่องแท้ผ่านการสืบเสาะหาความรู้และจากการทดลองปฏิบัติ ไม่ใช่จากการท่องจำ ทั้งนี้ยังเน้นให้ครูผู้สอนส่งเสริมให้นักเรียนสามารถประยุกต์ใช้แนวทางที่เรียนรู้จากชั้นเรียนสู่การแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง และร่วมแลกเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้กับเพื่อนครูด้วยการใช้กระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ   (Professional Learning Community – PLC) เพื่อร่วมสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้จากห้องเรียนสาธิต โดยครูจะทำงานร่วมกับเพื่อนครูเพื่อวางแผนการสอน กำหนดประเด็นและเป้าหมายในการเรียนรู้ของนักเรียน ร่วมกันสังเกตชั้นเรียนและพูดคุยสะท้อนผลหลังการสอน

ครูจักรรินทร์ กลั่นหอม  คุณครูวิชาวิทยาศาสตร์ระดับชั้น ม.1-3 จากโรงเรียนชุมชนวัดสุวรรณรังสรรค์จังหวัดระยอง คือหนึ่งในคุณครูที่ร่วมเข้าอบรมกับทางโครงการมาตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ แนวปฏิบัติสู่ผลสัมฤทธิ์ขั้นสูง และเทคนิคการสร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียนในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคนิคกับการสอนออนไลน์ในช่วง COVID

ครูจักรรินทร์ กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 3 ปี เราได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการอบรมจากทางคีนันไปปรับใช้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ทดลองทำในการอบรม เช่น การเปลี่ยนสถานะของสาร การแยกสาร หรือการเกิดปฏิกริยา ล้วนเป็นกิจกรรมที่นำมาปรับใช้ในห้องเรียนและได้ผลตอบรับอย่างดีจากนักเรียนที่รู้สึกมีบทบาทในการเรียนรู้เป็นของตัวเอง นอกจากนี้เทคนิคต่าง ๆ ในห้องเรียนอย่าง การสุ่มถาม หรือการหาคำตอบพร้อมหลักฐานและเหตุผล ก็สามารถนำมาปรับใช้ในห้องเรียนแบบออนไลน์ได้อย่างดี ทำให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วม ได้คิดอย่างเป็นระบบ และมีความสนใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้น”

ครูวราภรณ์ ลวงสวาส ครูวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง 5 และครูศยามล หงษ์ศิลา ครูวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนวัดห้วยโป่ง กล่าวเสริมว่า “เด็ก ๆ ตื่นเต้นมากขึ้นเมื่อครูปรับการสอนตามรูปแบบที่อบรมกับโครงการ นักเรียนบางคนรอดูว่าครูหายไปอบรมมาจะมีอะไรใหม่ ๆ มาให้ลองอีกบ้าง และหลังจากได้นำเทคนิคการตอบคำถามทางวิทยาศาสตร์ไปสอนนักเรียน เห็นได้ชัดว่านักเรียนมีพัฒนาการในการตอบคำถามโดยใช้หลักเหตุผลมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนตอบสั้น ๆ และไม่สามารถให้เหตุผลได้”

วิทยาศาสตร์คือทุกสิ่งรอบตัว

โครงการฯ ได้มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับคุณครู เพราะตั้งแต่เด็กจนโต หลาย ๆ คนอาจมองไม่เห็นถึงความเกี่ยวข้องของวิชาวิทยาศาสตร์กับชีวิตประจำวัน แต่ที่จริงแล้ว วิทยาศาสตร์อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่านั้น วิทยาศาสตร์อยู่ในทุก ๆ ช่วงเวลาและในทุก ๆ กิจกรรมของชีวิต วิทยาศาสตร์ไม่ใช่แค่หลอดทดลองหรือสารเคมี แต่วิทยาศาสตร์คือกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่เป็นระบบ มีหลักเหตุผลและหลักการรองรับ ดังนั้น กระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์นับได้ว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการไปต่อยอดกับการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด

“วิทยาศาสตร์คือทุกสิ่งรอบตัวเรา” ครูจักรรินทร์กล่าว “เราเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อเราจะสามารถมองสิ่งรอบตัวเราได้อย่างมีเหตุมีผล รู้จักคิดวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบให้กับเรื่องต่าง ๆ รอบตัวอย่างมีหลักการ ดังนั้นการเรียนจึงไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงแค่ทฤษฎีหรือผลลัพธ์ แต่ขั้นตอนการปฏิบัติและกระบวนการคิดก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน การคิดแบบวิทยาศาสตร์จะเป็นกลไกลสำคัญที่ช่วยให้นักเรียนรู้จักสังเกต ตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบแบบมีเหตุมีผลเพื่อจะเติบโตและใช้ชีวิตในโลกยุคดิจิทัลอย่างเท่าทัน” ครูจักรรินทร์กล่าวทิ้งท้าย

อีกหนึ่งกิจกรรมที่โครงการให้การสนับสนุนเพื่อช่วยเสริมการพัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์คือค่าย Innovation Camp เป็นการต่อยอดการปรับทัศนคติที่มีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์และเสริมสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนภายใต้การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ในชั้นเรียน โดยเชื่อมต่อการเรียนในห้องเรียนกับการเรียนนอกห้องเรียน ทำให้นักเรียนสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์กับโลกในชีวิตประจำวันได้

ศึกษานิเทศ ศิริกาญจน์ ชุติมามารค จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 กล่าวว่า “นักเรียนที่เข้าร่วมค่าย Innovation Camp มีเจตคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้น กิจกรรมในค่ายยังเปิดโลกทัศน์ของเด็ก ๆ เกี่ยวกับหุ่นยนต์ให้กว้างขึ้น นอกจากนี้การปรับการสอนของครูก็ทำให้นักเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น มีความกระตือรือร้นในการทำการทดลอง และมีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น”

โครงการไม่เพียงแต่สร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ของครูที่สร้างผลกระทบทางสังคมให้กับนักเรียน โดยกว่าร้อยละ 85 ของนักเรียนจากโรงเรียนขยายโอกาสในโครงการได้เลือกศึกษาต่อในสาย STEM แต่ยังช่วยส่งเสริมงานของสำนักงานเขตการศึกษาในการสร้างฐานการเรียนรู้ของบุคลากรครูและสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ของครู ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนด้านการศึกษา

“โครงการช่วยยกระดับการทำงานของเขต ส่งเสริมให้เขตสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเติมเต็มงานของเขต ทำให้เขตสามารถตอบตัวชี้วัดการทำงานที่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องได้ ครูมีพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการจัดการสอนในห้องเรียนที่มีแนวทางที่ชัดเจน เน้นในเรื่องการทดลองอย่างจริงจังมากขึ้น นอกจากนี้ ค่าย Innovation Camp ยังเป็นโอกาสดีที่ทำให้เขตได้สื่อสารกับผู้บริหารโรงเรียน พร้อมช่วยให้ผู้บริหารเห็นภาพและเข้าใจแนวทางที่นำไปต่อยอดการจัดการการเรียนการสอนแบบสะเต็มศึกษาได้”

 

 

 

Share this article

Latest.

People at Kenan: คุณจารุศรี จิรวิสิฐกุล

การศึกษาคือรากฐานสำคัญของ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ