คุณครูสันธาน จันทะมุด จากอำเภอองครักษ์ นครนายก เป็นหนึ่งในบรรดาครูที่เข้าร่วมสังเกตการณ์และช่วยสนับสนุนนักเรียนในค่ายสะเต็มศึกษาที่มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียจัดขึ้นด้วยการสนับสนุนจากโบอิ้ง ครูสันธานได้ซึมซับความรู้อันมีค่าเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษา ซึ่งจะทำให้เขาสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่4 วิชาคณิตศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น
“สะเต็ม (STEM)” เป็นคำที่พูดกันอย่างกว้างขวางในวงการการศึกษา หากแต่ครูผู้สอนจำนวนมาก ดังเช่น ครูสันธาน ยังไม่รู้วิธีการนำไปใช้ในการเรียนการสอน ทั้งนี้ STEM เป็นมากกว่าเพียงคำย่อของ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แต่สะเต็มศึกษาคือกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ ที่มุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทั้ง 4 สาขาพร้อมกัน และสามารถนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง
“ก่อนที่เราจะไปเข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่จะเป็นการสอนคนเดียว วิทยาศาสตร์ก็คือวิทยาศาสตร์ ส่วนคณิตศาสตร์ก็เกี่ยวกับคณิตศาสตร์เท่านั้น” ครูสันธานกล่าวยอมรับ “ผมไม่คิดว่าเราจะบูรณาการความรู้ได้”
หลังจากเข้าร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมของค่ายสะเต็มศึกษาและได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของคีนัน ครูสันธานเริ่มจับแนวทางการเรียนการสอนและเรียนรู้ผลที่มีต่อกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนได้ เขาพบว่าเทคนิคการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ และการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน ซึ่งคีนันนำมาใช้ช่วยพัฒนาความรู้ใน 4 สาขาของสะเต็มและบ่มเพาะทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน ตัวอย่างเช่น กิจกรรม “หอคอยไข่” ทำให้นักเรียนต้องปรับใช้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับฟิสิกส์ กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม การวัด รวมทั้งได้พัฒนาทักษะด้านอารมณ์ อาทิ การทำงานเป็นทีม การคิดเชิงวิพากษ์ และการแก้ปัญหา เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโมเดลการศึกษาศตวรรษที่ 21ของคีนัน
ทันทีที่กลับมาที่โรงเรียนวัดเชี่ยวโอสถ ครูสันธานกระตือรือร้นที่จะนำบทเรียนและกิจกรรมที่ได้เรียนรู้จากแคมป์มาใช้ที่โรงเรียน ซึ่งผลตอบรับต่อวิธีการสอนแบบใหม่จากนักเรียนนั้นดีมาก
“สิ่งที่สังเกตเห็นได้ง่าย คือ แววตาของนักเรียน แววตานักเรียนจะเป็นประกายเวลาได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ” ครูสันธานอธิบาย “เมื่อนักเรียนมีแววตาเป็นประกายและตั้งใจในเวลาเรียน ผมเห็นได้ว่า นักเรียนมีความตื่นเต้นกระตือรือร้นในการเรียนการสอนมากขึ้น”
การได้สัมผัสกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการที่ค่ายสะเต็มศึกษา ได้รับความรู้และได้เห็นผลที่สะเต็มมีต่อบรรดานักเรียน เป็นแรงบันดาลใจให้ครูสันธานนำการเรียนการสอนแบบสะเต็มไปใช้ในห้องเรียน และการตัดสินใจนั้นได้เกิดผลดีต่อนักเรียน หากแต่นักเรียนและครูส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่เคยได้มีโอกาสสัมผัสผลลัพธ์ของแนวทางการเรียนการสอนระดับโลกอย่างสะเต็ม เห็นได้จากการที่นักเรียนไทยอยู่ในอันดับที่ 55 จากทั้งหมด 72 ประเทศ ในการทดสอบด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ปี 2558
ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของคีนันทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อขยายการเรียนการสอนแบบสะเต็มไปทั่วประเทศ และด้วยการสนับสนุนของคุณ เราจะสามารถสร้างพลังให้ทั้งนักเรียนและครู เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่จุดหมายต่อไป