Community

การส่งเสริมสิทธิแรงงานระหว่างประเทศในเวียดนาม

ม.ค. 26,2023

Factory workers vietnam

ในช่วงหลายสิบปีให้หลังมานี้ เศรษฐกิจของประเทศเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว ทว่าประเด็นด้านสิทธิแรงงานระหว่างประเทศ (ILR) กลับทำให้แรงงานเสี่ยงต่อการถูกเลือกปฏิบัติ และประเด็นดังกล่าวยังเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย  ถึงกระนั้น เราก็ยังเห็นความพยายามแก้ไขประมวลกฎหมายแรงงานเพื่อเพิ่มการคุ้มครองแรงงานอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าเวียดนามให้ความสำคัญกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับสากล พวกเขายังเข้าร่วมในข้อตกลงการค้าเสรีและเป็นสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ  ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิคีนันแห่งเอเชียและศูนย์การศึกษาและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ในเพศ-ครอบครัว-สตรีและวัยรุ่น (CSAGA) จึงร่วมมือกันพัฒนาโครงการสร้างความตระหนักรู้และเสริมการปฏิบัติด้านสิทธิแรงงานระหว่างประเทศในเวียดนาม หรือ SAP-ILR ขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิแรงงานระหว่างประเทศและวิธีการใช้สิทธิเหล่านี้ในการยกระดับภาคแรงงานในเวียดนาม

การเสริมแกร่งสิทธิแรงงานระหว่างประเทศในเวียดนาม

การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายและกฎหมายนำไปสู่คำถามในการปฏิบัติจริง  เราจะนำนโยบายและกฎหมายใหม่นี้ไปใช้ในสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องอย่างไร และจะสนับสนุนวิสาหกิจให้ปรับปรุงแนวทางปฏิบัติด้านแรงงานอย่างไรได้บ้าง  เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงงานที่ปลอดภัยและถูกหลักจริยธรรม มูลนิธิคีนันฯ ใช้เวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ถึง 2563 จับมือกับโรงงานในเขตอุตสาหกรรม Bac Ninh ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับกรุงฮานอย สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิแรงงาน การใช้กลไกวัดผลที่ยั่งยืนเพื่อติดตามผลสัมฤทธิ์ของหลัก ILR ไปจนถึงส่งเสริมหลัก ILR ผ่านกระบวนการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมกับพนักงาน และภาควิสาหกิจกับภาครัฐบาล

ทว่าการพลิกโฉมครั้งใหญ่มักจะพบกับอุปสรรคอยู่เสมอ ความไว้วางใจในองค์กรภายนอกอย่างมูลนิธิคีนันฯ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เราจำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากองค์กรนั้น ๆ เพื่อเข้าถึงคนงานและพูดคุยเกี่ยวกับสิทธิของพวกเขา  ผู้บริหารโรงงานต้องทำเข้าใจก่อนว่าโครงการ SAP-ILR มีประโยชน์ต่อทั้งคนงานและองค์กรเอง โดยโครงการ SAP-ILR จะแสดงให้เห็นว่าแนวปฏิบัติด้านแรงงานที่ดีกว่าและการเจรจาทางสังคมแบบเปิดกว้างและสร้างสรรค์จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและกลุ่มผู้บริหาร เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมมากขึ้น นำไปสู่การเสริมประสิทธิผลและยกระดับประสิทธิภาพของแรงงาน

“ที่ใดมีข้อตกลงร่วมกัน การเจรจาก็ใช้ได้”

การสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการเจรจาเชิงสร้างสรรค์: การสร้างความไว้วางใจ

มูลนิธิคีนันฯ ได้จัดประชุมกับผู้บริหารโรงงานและรัฐบาลก่อนเริ่มโครงการฯ  เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในหมู่องค์กร พร้อมกับถือโอกาสอธิบายจุดมุ่งหมายและลักษณะของโครงการฯ ไปในตัว ความเข้าใจผิด ๆ ที่พบได้บ่อย คือ หลายบริษัทมักหลงคิดว่าการจัดการเจรจาอย่างเป็นรูปธรรมหรือการประชุมเจรจาต่อรองร่วมกันจะทำให้คนงานออกมาเรียกร้องมากขึ้นและทำให้ต้นทุนของโรงงานสูงกว่าเดิม การดึงผู้บริหารองค์กรให้มาเข้าประชุมกับผู้จัดการระดับกลางและพนักงานจึงนับเป็นการท้าทายอย่างยิ่ง อย่างในกรณีที่จัดการประชุมกับคนงานก็จะบรรยากาศความลังเลที่จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อกำหนดของผู้ปฏิบัติงาน  ยกตัวอย่างเช่น สิทธิของคนงานที่ไม่สามารถพูดออกมาตรง ๆ ได้ หนึ่งในวิธีที่มูลนิธิคีนันฯ นำมาพลิกสถานการณ์เช่นนี้ คือ การให้หัวหน้าฝ่ายจัดการแรงงานของเขตอุตสาหกรรม Bac Ninh จัดการอบรมเรื่องการเจรจาทางสังคมและการพัฒนาข้อตกลงการเจรจาต่อรองร่วมกัน และเชิญตัวแทนจากโรงงานระดับสูงมาจับเข่าคุยแบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จ

อีกปัจจัยที่ช่วยสร้างความไว้วางใจระหว่างมูลนิธิคีนันฯ และองค์กร คือ การเน้นย้ำอย่างต่อเนื่องว่าโครงการฯ สามารถช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จได้อย่างไร  มีการโทรศัพท์พูดคุยและเดินทางไปที่จังหวัด Bac Ninh เพื่อหารือกับผู้จัดการองค์กรในระดับต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อดีของการเปิดโอกาสให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมและการปรับปรุงสภาพการทำงาน ไปจนถึงข้อตกลงต่าง ๆ ในการเข้าร่วมกับเรา โครงการฯ มีความคืบหน้าในการปลุกจิตสำนึกของผู้จัดการองค์กรเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสิทธิแรงงาน  ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2561 มีบริษัทถึง 7 แห่งระบุว่าพวกเขาสนใจโครงการนี้มาก และตกลงที่จะร่วมมือกับมูลนิธิคีนันฯ วิสาหกิจอีก 10 แห่งตกลงที่จะเข้าร่วมในการประเมินโครงการพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม การสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการสื่อสารเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะการสร้างความรู้ที่จำเป็นสำหรับการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพต่างหากที่เป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งทำได้โดยการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับหลัก ILR ให้กับผู้มีบทบาทหลัก และใช้รายการตรวจสอบเพื่อติดตามผลการปฏิบัติงานตามหลัก ILR

การสร้างความรู้เพื่อการเสวนาเชิงสร้างสรรค์: กิจกรรมการสื่อสาร

เนื่องจากผู้เข้าร่วมโครงการฯ มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิแรงงานของตนต่างกัน การจัดกิจกรรมสื่อสารจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิแรงงานระหว่างประเทศให้คนงานในโรงงาน  กิจกรรมการสื่อสารครอบคลุมหลากหลายประเด็น เช่น การเจรจาในที่ทำงาน การเจรจาต่อรองร่วมกัน ข้อตกลงการเจรจาต่อรอง ค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงานและช่วงเวลาพัก ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย บทบัญญัติแยกต่างหากเกี่ยวกับพนักงานหญิง และปัญหาด้านแรงงาน รวมถึงการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มเสี่ยง  นอกจากนั้น ทีมงานยังได้ออกไปพบปะคนงานที่อยู่ใกล้ที่พัก เพื่อเข้าใจถึงกิจวัตรประจำวันหลังเลิกงานของผู้เข้าร่วม และนำไปปรับปรุงกิจกรรมการสื่อสารต่อไป ข้อมูลที่ทีมงานรวบรวมมาได้ทำให้มูลนิธิคีนันฯ สามารถพัฒนากิจกรรมการสื่อสารที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนงาน

เรามีกิจกรรมการสื่อสารทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ กิจกรรมออฟไลน์จะจัดขึ้นทั้งในโรงงานและในพื้นที่ชุมชน  จากผลการทดสอบก่อนและหลังกิจกรรมแสดงให้เห็นว่า 100% ของผู้เข้าร่วมเข้าใจหลัก ILR  มากขึ้น ทั้งยังได้เสียงตอบรับมาว่า “ขอบคุณโครงการที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลัก ILR  ซึ่งช่วยปกป้องทั้งตัวเราเองและคนงานคนอื่น ๆ ในโรงงาน” โดยรวมแล้ว เราได้สร้างความตระหนักรู้ด้านหลัก ILR ให้กับพนักงานกว่า 2,486 คน ผ่านกิจกรรมการสื่อสารภายในโรงงานทั้งสิ้น 15 กิจกรรม ซึ่งช่วยสร้างความไว้วางใจและได้รับการยอมรับจากทั้งระดับผู้บริหารไปจนถึงคนงานในโรงงาน

ความไว้วางใจมีความสำคัญอย่างมากต่อการติดตามผลสัมฤทธิ์ในโรงงาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญโครงการและผู้ดำเนินการหลัก  เราใช้รายการตรวจสอบเหล่านี้เพื่อต่อยอดสู่การเจรจาทางสังคม เพื่อช่วยระบุปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขและตกลงร่วมกัน  พนักงานที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับคำแนะนำให้กรอกรายการตรวจสอบระหว่างทำกิจกรรม ซึ่งในรายการตรวจสอบจะระบุปัญหาด้านสิทธิแรงงานทั้ง 25 ประเด็น รวมถึงบทบัญญัติแยกต่างหากที่เกี่ยวข้องกับพนักงานหญิง การเลือกปฏิบัติ ชั่วโมงการทำงานและช่วงเวลาพัก สัญญาและการประกันภัย ค่าจ้างและค่าตอบแทน การเจรจาในที่ทำงาน และข้อตกลงการเจรจาต่อรองร่วมกัน ข้อมูลนี้ใช้เพื่อจัดลำดับความสำคัญของปัญหาหลัก ILR ในโรงงาน ไปจนถึงใช้เป็นเกณฑ์เลือกโรงงานที่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อจัดการเจรจาทางสังคมและการประชุมการเจรจา

ผลลัพธ์ของโครงการแสดงให้เห็นว่าการผสานรวมระหว่างรายการตรวจสอบที่เสร็จสมบูรณ์เข้ากับกิจกรรมการสื่อสารนั้นมีประสิทธิภาพ และการนำรายการตรวจสอบเหล่านี้ไปใช้ถือว่าเป็นวิธีการที่ยั่งยืนในการตรวจสอบการปฏิบัติตามหลัก ILR ในโรงงานต่าง ๆ ด้วยวิธีนี้ โครงการฯ ได้ให้ความรู้และเครื่องมือสำหรับการเจรจาทางสังคมที่สร้างสรรค์ระหว่างองค์กรภาคประชาสังคม ทีมบริหารองค์กร และพนักงาน เพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติตามหลัก ILR จะยังคงมีความเข้มแข็งต่อไปในอนาคต

 “กิจกรรมการสื่อสารภายใต้โครงการที่ฉันเข้าร่วมสำคัญมาก ๆ และเป็นประโยชน์สำหรับคนงานจริง ๆ โดยเฉพาะคนงานที่ทำงานในโรงงานในเขตอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้ เราจึงเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการสื่อสารของโครงการ นอกจากนี้ เรายังต้องการให้บริษัท โรงงาน หน่วยงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับชีวิตและสภาพการทำงานของคนงานเช่นเรา”

ชีวิตนอกโครงการ: ลงนามในข้อตกลงและประมวลกฎหมายแรงงาน พ.ศ. 2562

จากการเฝ้าสังเกตระหว่างการดำเนินโครงการฯ และการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ มูลนิธิคีนันฯ ได้นำข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิรูปประมวลกฎหมายแรงงานส่งต่อให้กระทรวงแรงงาน – ผู้ทุพพลภาพและกิจการสังคม (MOLISA) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาแรงงาน ข้อเสนอแนะดังกล่าวพูดถึงการเลือกปฏิบัติ การเจรจาในที่ทำงาน การเจรจาต่อรองร่วม และพนักงานที่มีความทุพพลภาพ รวมเข้ากับประมวลกฎหมายแรงงานฉบับที่ 45/2019/QH14 ประมวลกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ได้รับการให้สัตยาบันโดยสมัชชาแห่งชาติ XIV เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564

กลายเป็นแรงใจล่อเลี้ยงคนงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และทีมงานโครงการฯ ว่าการผนึกกำลังระหว่างคนงานและผู้จัดการผ่านแนวทางที่สร้างสรรค์บนพื้นฐานของความเข้าใจ เราจะสามารถสานความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นและสร้างสภาพการทำงานที่ดีกว่าได้ กลุ่มโรงงานได้แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าจะมีความเข้าใจไม่เพียงพอเกี่ยวกับการเจรจาทางสังคมและข้อตกลงการเจรจาต่อรองร่วมกัน แต่ก็ยังมีความปรารถนาที่จะพัฒนาความรู้และความสามารถ  ด้วยการฝึกอบรมและการสนับสนุนที่เหมาะสม โรงงานสามารถบรรลุการทำงานที่ล้ำหน้ากว่าที่กฎหมายกำหนด ตัวอย่างเช่น องค์กรหนึ่งลงนามในข้อตกลงการเจรจาด้านกับสภาพการทำงานที่มีมาตรฐานสูงกว่ากฎหมายแรงงานของเวียดนามถึง 4 รายการ และตามที่คนงานคนหนึ่งกล่าวไว้ข้างต้น โรงงานต่าง ๆ เริ่มให้ความสำคัญกับชีวิตและสภาพการทำงานของคนงานมากขึ้น

Share this article

Latest.

People at Kenan: คุณจารุศรี จิรวิสิฐกุล

การศึกษาคือรากฐานสำคัญของ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ