น้องเล็ก ศมนธร * เป็นนักเรียนจากจังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการชุมชนฮาราปัน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณโครงการจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ในปี พ.ศ.2562 โดยโครงการชุมชนฮาราปันจัดตั้งขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจกรรมสานสัมพันธ์และการพัฒนาพื้นที่ท้องถิ่นพหุวัฒนธรรม และน้องเล็กก็ทำหน้าที่เป็นผู้นำเยาวชนเพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่มีภูมิหลังทางศาสนาที่แตกต่างกัน ทั้งชาวพุทธและมุสลิม ให้มีส่วนร่วมเพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก่อให้เกิดเป็นความสามัคคีร่วมกัน และสร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจซึ่งกันและกัน กิจกรรมตัวอย่างภายใต้โครงการชุมชนฮาราปัน ได้แก่ โครงการพัฒนาชุมชนศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร (ป่าพรุโต๊ะแดง) โดยน้องเล็ก ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานร่วมกับครู ผู้นำชุมชน และผู้นำศาสนา เพื่อชวนให้คนในชุมชนมาร่วมกิจกรรม
อย่างไรก็ตามเมื่อโรคโควิด-19 เกิดการแพร่ระบาดทั่วโลก ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเข้าสู่มาตรการล็อคดาวน์ กิจกรรมของโครงการชุมชนฮาราปันจำเป็นต้องหยุดชะงักลง เพราะโครงการชุมชนฮาราปันเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างบุคคล ที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ดังนั้น เมื่อมีประกาศจากรัฐบาล โรงเรียน ร้านค้า และสถานที่ทำงาน จึงจำเป็นต้องปิดชั่วคราว ส่งผลให้ ครู ผู้นำชุมชน และ ผู้นำศาสนา ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนงานโครงการ ต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้าน และหยุดกิจกรรมทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคจากโรคระบาดดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้โครงการชุมชนฮาราปันต้องปิดตัวถาวรแต่อย่างใด เพราะทีมงานทั้งหมดได้ร่วมกันคิดหาวิธีปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมเพื่อให้โครงการ ยังสามารถดำเนินต่อได้ และได้นำโปรแกรมการเรียนรู้แบบออนไลน์มาใช้ โดยที่น้องเล็กและแกนนำเยาวชนทุกคน ต่างก็ขยันหมั่นเพียรเข้าร่วมฝึกอบรมความรู้เป็นประจำ ส่วนกลุ่มบุคคลากรครู ผู้นำชุมชน และผู้นำศาสนา ก็ได้รับการสื่อสารถึงความคืบหน้าของโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะเวลาดังกล่าว น้องเล็กและแกนนำเยาวชนทุกคน ก็ได้รับการสอนทักษะใหม่ ๆ เกี่ยวกับการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงข้อควรระวังในเรื่องการใช้ถ้อยคำหรือข้อความบางอย่างที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ เป็นต้น นอกจากนี้ พวกเขายังได้เรียนรู้เทคนิคการเล่าเรื่องแบบง่ายๆ ที่เรียกว่า “Photo Novella” ซึ่งเป็นเทคนิคการเล่าเรื่องราวในชุมชนผ่านภาพถ่าย เพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่มีภูมิหลังด้านศาสนาที่แตกต่างกัน ให้สามารถสานสัมพันธ์และรวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยทุกๆ สัปดาห์ ครู ผู้นำชุมชน และผู้นำศาสนา จะได้รับทราบข้อมูลและข่าวสารจากเยาวชนกลุ่มนี้ ผู้มีความตั้งใจจริงที่จะแบ่งปันความรักและความเมตตาของตนเองที่มีต่อเพื่อนสมาชิกในชุมชนฮาราปัน
“ตอนที่ต้องติดอยู่ที่บ้านโดยไม่มีอะไรทำ โครงการชุมชนฮาราปันได้นำกิจกรรมที่มีประโยชน์มาช่วยให้คนในชุมชนได้สานสัมพันธ์กัน และเราได้ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ในชุมชนของเรามากยิ่งขึ้น ถือว่าเข้ามาช่วยเราได้ถูกเวลาจริงๆ” นี่เป็นคำบอกเล่าของน้องเยาวชนคนหนึ่งในโครงการ นอกจากนี้ น้องเล็กยังกล่าวเสริมว่า “หนูไม่มีโอกาสได้พบปะผู้คนเลยในช่วงโควิดที่เราต้องกักตัว แต่โครงการชุมชนฮาราปันทำให้เราพบเจอกันอีกครั้งผ่านช่องทางออนไลน์ และช่วยให้เราได้ทำงานเพื่อมุ่งสร้างทักษะการทำงานให้กับสมาชิกในชุมชนคนอื่นๆ และช่วยกันสานสัมพันธ์ให้ทุกๆ คนได้เรียนรู้และรู้จักกันมากยิ่งขึ้น หากสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้สิ้นสุดลงแล้ว เราก็จะนำทักษะที่ได้เรียนรู้กับเพื่อนๆ มาแบ่งปันเป็นความรู้สู่คนอื่นๆ ให้ได้มากยิ่งขึ้นไปอีก และเราก็จะร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป”
จากการเล่าเรื่องผ่าน Photo Novella น้องเล็กได้แสดงให้เราเห็นว่า แม้โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการทำงานและกิจกรรม แต่หากทุกคนช่วยกันคิดที่จะหาวิธีเสริมสร้างความสัมพันธ์และเชื่อมโยงคนในชุมชนเข้าด้วยกัน เราก็จะสามารถพบวิธีใหม่ๆ ในการทำงานได้ในท้ายที่สุด ในขณะที่โลกยังคงปรับตัวเข้าสู่ความปกติใหม่ในรูปแบบใหม่ (New normal) เทคโนโลยีเสมือนจริง และเครื่องมือออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ นับว่าเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังและมีประสิทธิภาพในการสร้างความเข้าใจ สร้างความไว้วางใจ และก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์อย่างสันติระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ในชุมชน
แม้จะเป็นเรื่องท้าทาย แต่คีนันและบุคลากรในชุมชนฮาราปันก็พร้อมทำงานหนักเพื่อช่วยให้โครงการชุมชนฮาราปันสำเร็จลุล่วง โควิด-19 ถือเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ของโลกใบนี้ แต่ผลสำเร็จจากโครงการชุมชนฮาราปันถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน และเป็นโอกาสให้ทุกคนได้รู้จักคิดทบทวนถึงวิธีการทำงานที่ต่างออกไป เพื่อนำพาชุมชนของเราไปสู่ความก้าวหน้าและอนาคตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
หากคุณต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการของคีนัน โปรดติดต่อเราที่ info@kenan-asia.org