Blog (TH)

จดหมายข่าวโครงการ Chevron Enjoy Science ฉบับที่ 4

ม.ค. 26,2023

ฉบับที่ 4, กุมภาพันธ์ 2016

ขอแนะนำ ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ข่าวสารโครงการ Chevron Enjoy Science

กิจกรรมล่าสุด

ข่าวสารสะเต็มศึกษา

ข่าวสารการศึกษาไทย

กิจกรรมในอนาคต

 

ขอแนะนำ ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


การศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ประเทศวางไว้จะสำเร็จได้ต้องมีการปรับเปลี่ยนและปฏิรูปการศึกษาให้สอดคล้องกับโรดแมปที่วางไว้ ด้วยเหตุนี้ เราจำเป็นต้องเลือกการปฏิรูปที่เหมาะกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ตอบสนองกับความต้องการจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งหมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการศึกษาที่เชื่อมโยงกับความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน โดยส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบันและอนาคต

ตัวอย่างเช่น นักเรียนในสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering and Mathematics: STEM) หรือที่เรียกว่าสะเต็ม ควรได้รับการส่งเสริมให้เข้าร่วมโปรแกรมการเป็นผู้ประกอบการด้านสะเต็ม (STEM entrepreneurship program) โดยผนวกทักษะทางธุรกิจกับสะเต็มศึกษาไว้ด้วยกัน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนสามารถเข้าสู่

การแข่งขันในปัจจุบันและในโลกธุรกิจซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นอกจากนี้ ควรสร้างศูนย์ข้อมูลความรู้ เช่น ศูนย์ทรัพยากรทางด้านสะเต็มที่สามารถเปิดเป็นศูนย์บริการเบ็ดเสร็จแบบออนไลน์ (one-stop online service) เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้บริการได้ นับตั้งแต่นักเรียน ธุรกิจ start up ไปจนถึงบุคลากรวิชาชีพ โดยมอบความรู้และบริการด้านสะเต็มพร้อมเพิ่มทักษะแก่กำลังคนในศตวรรษที่ 21

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ การยกระดับการศึกษาในภาคอาชีวะและการฝึกอบรมช่างเทคนิค (Technical Vocational Education & Training: TVET) ด้วยการทำงานร่วมกับโรงเรียนอาชีวศึกษา จะช่วยให้เราสามารถสร้างสถานที่เรียนรู้ที่มีความปลอดภัย ให้นักเรียนได้รับการฝึกฝนที่ดี และมีทักษะขั้นสูง นอกจากนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเอกชน ควรสร้างแพลตฟอร์มที่ภาคอุตสาหกรรม บริษัทและโรงเรียน สามารถดำเนินการผ่านความร่วมมือรัฐร่วมเอกชน เพื่อปรับปรุงหลักสูตร สร้างโปรแกรมการฝึกงาน การส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการทำงานจริง ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ร่วมกันได้

ในปัจจุบันประเทศไทยมีตัวอย่างโครงการที่ร่วมกันแก้ปัญหานี้อยู่ 2 โครงการ โครงการแรกเป็นการผนึกกำลังระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในการสร้างรูปแบบการฝึกอาชีพระบบทวิภาคีหรือโรงเรียนในโรงงานขึ้น เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะเฉพาะด้าน ทางอุตสาหกรรม โดยเปิดโอกาสให้มีการฝึกงานในโรงงานต่างๆ ในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างระบบการศึกษาในท้องถิ่นกับภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น

อีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับเศรษฐกิจของประเทศโดยใช้การศึกษาสะเต็ม (STEM) และยกระดับการศึกษาในภาคอาชีวะและการฝึกอบรมช่างเทคนิค (TVET) เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งโครงการนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐร่วมเอกชน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพครู STEM และ TVET รวมไปถึงการจัดตั้งศูนย์การศึกษาด้านสะเต็ม (STEM) และศูนย์อาชีวศึกษา (TVET) อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะช่วยเพิ่มทักษะกำลังคนในศตวรรษที่ 21 ในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสะเต็ม เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ พลังงาน วงจรไฟฟ้า และภาคเกษตรกรรม

สุดท้ายนี้ การพัฒนาการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ จะต้องร่วมมือร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียวในการดำเนินงาน เพื่อขยายศักยภาพในการแข่งขัน สร้างความเป็นหนึ่งเดียว และความยั่งยืน เพื่อที่จะนำไปสู่ประเทศที่มี นวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่กับการสร้างสังคมและชุมชนที่น่าอยู่ มั่นคงและยั่งยืน

ข่าวสารโครงการ Chevron Enjoy Science


พิธีเปิดโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยความร่วมมือ ระหว่างโครงการ Chevron Enjoy Science สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศทั้ง 8 แห่ง

สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนและอาชีพด้านสะเต็มกับโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย

โครงการ Chevron Enjoy Science ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ เครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำ 8 แห่ง จัดโครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทยขึ้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้พร้อมสร้างแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพด้านสะเต็มให้กับเยาวชน โดยมีนักเรียน ครู และผู้ปกครองทั้งจากกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมงานมากกว่า 3,400 คน งานดังกล่าวเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เรียนรู้ผ่านการทดลองและกิจกรรมต่างๆ ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ พร้อมแนะนำอาชีพด้านสะเต็มที่น่าสนใจภายใต้กิจกรรม “สนุกกับอาชีพวิทย์” (Enjoy Science Careers) ที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาร่วมให้ความรู้และคำแนะนำแก่เยาวชน

โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทยครั้งนี้ เป็นความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน จึงถือเป็นกิจกรรมที่ใหญ่ที่สุดกิจกรรมหนึ่งที่โครงการ Chevron Enjoy Science ได้เข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุน โดยสามารถสร้างความตระหนักรู้และความร่วมมือครั้งสำคัญให้เกิดขึ้น นอกจากการพัฒนาทั้งสะเต็มศึกษาและอาชีวศึกษาให้ดียิ่งขึ้นเพื่อยกระดับศักยภาพของทรัพยากรบุคคลให้ทันต่อการพัฒนาประเทศแล้ว ทางโครงการฯ ยังเน้นสร้างความสนใจและแรงบันดาลใจในการศึกษาด้านนี้ให้แก่เยาวชนอีกด้วย โครงการ Chevron Enjoy Science เล็งเห็นว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านการศึกษาอย่างยั่งยืนนั้น ผู้ปกครอง ครู นักเรียน และภาครัฐ จะต้องตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนด้าน
สะเต็มศึกษาและอาชีวศึกษา พร้อมเล็งเห็นโอกาสของอาชีพในสายงานที่เกี่ยวข้องกับ สะเต็มศึกษาที่มีอยู่อย่างหลากหลาย

แบรด มิดเดิลตัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เชฟรอนเอเชียเซ้าท์ จำกัด เข้าร่วมโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย

 

ทั้งนี้ดร.คุณหญิง สุมณฑา พรหมบุญ กรรมการมูลนิธิสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดา กล่าวว่า “การเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาให้กับเยาวชนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขา สะเต็มถือเป็นวาระแห่งชาติและเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืน โครงการ ‘มหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย’ ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่สนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ที่ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเยาวชน โดยโครงการ ‘มหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้”

ภายในงาน เยาวชนที่เข้าร่วมงานต่างสนุกสนานพร้อมได้รับความรู้ผ่านการทดลองวิทยาศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริงในอาชีพสายวิทยาศาสตร์ เช่น นักธรณีวิทยาปิโตรเลียม นักชีววิทยา นักคิดค้นยา เป็นต้น โดยนางดวงสมร คล่องสารา ประธานคณะทำงานโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย กล่าวถึงหัวใจสำคัญของโครงการมหาวิทยาลัยเด็กว่า “คือการเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำกิจกรรมทดลองที่ท้าทายและน่าสนใจในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ โดยมีอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัย เป็นวิทยากร ช่วยให้เด็กๆ ได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่การสังเกต การตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบ ได้อย่างสนุกสนานและมีความสุขเกิดทัศนคติที่ดีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์” ทั้งนี้โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย เตรียมขยายกิจกรรมให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเครือข่ายเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความสนใจในสะเต็มศึกษา และสร้างแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ โดยนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวทิ้งท้ายว่า “เราคาดหวังว่า โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย จะสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนมากกว่า 10,000 คนทั่วประเทศ ภายในปี 2560”

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ

กลับไปข้างบน

 

กิจกรรมล่าสุด


ผู้เชี่ยวชาญจากโครงการ Chevron Enjoy Science ทำงานร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนในจังหวัดสมุทรปราการ

กิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารกับความเป็นผู้นำทางวิชาการในโรงเรียน (Principal Workshops)

การประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารสถานศึกษากับความเป็นผู้นำทางวิชาการในโรงเรียน จัดขึ้นสำหรับกลุ่มโรงเรียนในจังหวัดขอนแก่น สมุทรปราการ และสงขลา ในระหว่างวันที่ 3-4, 8-9 และ14-15 ธันวาคม 2558 ตามลำดับ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริหารสถานศึกษาเห็นความสำคัญของ “การเตรียมตัวนักเรียนในการสอบ O-NET” โดยมีการฝึกวิเคราะห์รายงานผลการสอบ และลักษณะข้อสอบ O-NET เพื่อให้ผู้บริหารสามารถสนับสนุนคุณครูในการวางแผนเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียน ทั้งนี้ผู้บริหารยังได้รับทราบและเข้าถึงบทเรียนและการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ทางโครงการแนะนำ รวมไปถึงทบทวน high-impact practices ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่สร้างผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ในระดับสูง นอกจากนี้ ยังมีการแนะแนวการสังเกตชั้นเรียนและการให้ความคิดเห็นสะท้อนกลับกับครูผู้สอน เพื่อให้ครูผู้สอนเกิดการพัฒนาการสอนในครั้งต่อๆ ไปอย่างต่อเนื่อง

นิทรรศการ Enjoy Science Careers ในงานถนนสายวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2559

เยาวชนที่เข้าร่วมงานเรียนรู้ความสำคัญของการศึกษาสะเต็มต่ออาชีพในอนาคต

โครงการ Chevron Enjoy Science ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัดนิทรรศการ Enjoy Science Careers โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม ผ่านการเรียนรู้จากอาชีพต่างๆ ที่น่าสนใจจำนวน 10 อาชีพ ที่ล้วนมีความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้าถึงข้อมูลที่น่าสนใจ พร้อมรับชมวิดีทัศน์แนะนำอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญ และคำแนะนำด้านคุณสมบัติและการศึกษาสู่เส้นทางอาชีพที่ใฝ่ฝัน นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมการทดลองจากการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือจริง โดยนิทรรศการ Enjoy Science Careers ได้นำร่องจัดแสดงในงานถนนสายวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2559 ระหว่างวันที่ 7-9 มกราคม 2559 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยนำเสนออาชีพ นักธรณีวิทยาปิโตรเลียม (Petroleum geologist) และนักคิดค้นยา (Drug Researcher) ซึ่งภายในงาน มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 6,000 คน ทั้งนี้ นิทรรศการทั้ง 10 อาชีพนั้น จะนำไปจัดแสดงอย่างเต็มรูปแบบในกิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์ประจำปีของ อพวช. ให้กับเยาวชนตามภูมิภาคต่างๆ กว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 เป็นต้นไป

 

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนายกระดับการศึกษา ในภาคอาชีวะและการฝึกอบรมช่างเทคนิค

นายปิยบุตร ชลวิจารณ์ ดร. ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ และ นางหทัยรัตน์ อติชาติ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย จัดขึ้นในวันที่ 15 มกราคม 2559 ณ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อผสานความร่วมมือในการพัฒนา ยกระดับการศึกษาในภาคอาชีวะและการฝึกอบรมช่างเทคนิค (Technical Vocational Education & Training: TVET) รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ผ่านการตั้งศูนย์อาชีวศึกษา หรือ TVET Hub จำนวน 6 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาบุคลากรในสถานศึกษา สถานประกอบการหรือหน่วยฝึกอบรมต่างๆ และสร้างความตระหนักแก่นักเรียน นักศึกษาและชุมชนอีกด้วย

 

ข่าวสารสะเต็มศึกษา


จิตวิทยาเบื้องหลังความแตกต่างในด้านสะเต็มศึกษา

นักการศึกษาเชื่อมั่นว่าการส่งเสริมแนวคิด “สะเต็มเหมาะสำหรับทุกคน” จะสามารถเพิ่มจำนวนนักเรียนหญิงให้หันมาสนใจ เลือกเรียนสายอาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับ การศึกษาสะเต็มมากยิ่งขึ้น

การเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเร่งขยายจำนวนนักเรียนในระดับสูงกว่าประถมศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันความต้องการแรงงานทักษะสูงก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากแต่แนวทางด้านการศึกษายังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างเต็มที่ ในประเทศไทย จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสะเต็ม (STEM) มีเพียงประมาณ 30% โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานในสายอาชีพสะเต็มนั้นยิ่งมีน้อย

ผลวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Learning and Instruction โดย Dario Cvencek และ Andrew Meltzoff สองนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันในประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ Manu Kapur จากสถาบันการศึกษาแห่งชาติ (National Institute of Education) ประเทศสิงคโปร์ ได้ศึกษาปัจจัยที่อาจส่งผลต่ออัตราการศึกษาในสาขาสะเต็มของผู้หญิงมีสัดส่วนที่ต่ำ โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบของทัศนคติที่ว่า วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เหมาะสำหรับผู้ชายนั้น ส่งผลต่อทัศนคติของผู้หญิงในการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างไร

นักวิจัยจากประเทศสิงคโปร์ได้ศึกษามุมมองทั้งแบบ implicit (มุมมองที่เกิดจากการประสบการณ์เฉพาะตน) และ explicit (มุมมองที่เกิดจากการถ่ายทอดความรู้) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาจำนวน 267 คน ถึงทัศนคติต่อวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ว่ามีไว้สำหรับผู้ชายเท่านั้นหรือไม่ รวมไปถึงทัศนคติของนักเรียนแต่ละคนถึงความชอบในสาขาวิชาสะเต็ม ว่าตนเองเหมาะสมกับการเรียนในวิชาใดมากที่สุด นอกจากนี้ นักวิจัยยังใช้ผลสอบมาตรฐานการศึกษาประจำชาติล่าสุดของนักเรียนแต่ละคน เพื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถแต่ละบุคคลกับทัศนคติดังกล่าว

Cvencek, Meltzoff, และ Kapur ค้นพบว่านักเรียนส่วนใหญ่มีมุมมองแบบ implicit ในการเชื่อมโยงเพศกับคณิตศาสตร์ (implicit math-gender stereotype) โดยเด็กที่มีอายุน้อยสุดคือ 7 ปี ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายมีความคิดว่าวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์นั้นมีไว้สำหรับ “เพศชาย” ไม่ได้มีไว้สำหรับเพศหญิง ซึ่งทัศนคติเช่นนี้มีอิทธิพลต่อการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น เด็กผู้หญิงที่มีความคิดว่าวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาสำหรับเด็กผู้ชาย จะไม่ถนัดในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ผลการวิจัยนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อนักการศึกษา และสำหรับประเทศที่กำลังต้องการเพิ่มจำนวน ผู้สำเร็จการศึกษาด้านสะเต็ม อัตลักษณ์และทัศนคติที่ก่อขึ้นในวัยเด็กนั้นมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อการตัดสินใจและความตั้งใจในการศึกษาต่อ รวมถึงเส้นทางในการประกอบอาชีพในอนาคต ถ้าหากผู้หญิงในประเทศใดก็ตามถูกทำให้เกิดความย่อท้อ หรือหมดกำลังใจในการศึกษาด้านสะเต็มตั้งแต่วัยเด็ก ประเทศนั้นๆ ก็จะไม่สามารถตอบสนองความต้องการแรงงานทักษะสูงด้านสะเต็มได้ ขณะที่ในประเทศสิงคโปร์ ทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงประสบความสำเร็จในการสอบวิชาคณิตศาสตร์ โดยมีผลคะแนนการสอบการศึกษาของชาติในระดับเดียวกัน และเด็กผู้หญิงมีแนวโน้มน้อยมากที่จะมีทัศนคติเชิงลบในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์

นักการศึกษาด้านสะเต็มทั่วโลกควรให้ความสนใจกับผลการวิจัยนี้ ซึ่งสะท้อนว่า นอกจากการส่งเสริมให้มีผู้หญิงในสาขาสะเต็มศึกษามากขึ้นแล้ว ประเทศต่างๆ ยังต้องต่อสู้กับทัศนคติที่เชื่อมโยงเพศกับวิชา (gender stereotypes) ด้วย แม้ปัจจุบันผู้หญิงที่อยู่ในสาขาสะเต็มมีน้อย แต่ก็ถือเป็นโอกาสอันมหาศาลสำหรับประเทศในการพัฒนาบุคลากรที่ยังมีอยู่อีกมาก ดังนั้น แนวคิดที่ว่า “สะเต็มเหมาะสำหรับทุกคน” จึงควรได้รับการสนับสนุน โดยมีเป้าหมายที่จะปลูกฝังสะเต็มให้กับผู้หญิงตั้งแต่วัยเด็กและส่งเสริมให้พวกเขาก้าวเข้าสู่เส้นทางอาชีพในสาขาสะเต็ม

แหล่งที่มา: Math achievement, stereotypes, and math self-concepts among elementary-school students in Singapore

 

ข่าวสารการศึกษาไทย


ประชารัฐเปลี่ยนทิศทางประเทศ หนุนเด็กอาชีวะเป็นเถ้าแก่สร้างเศรษฐกิจชาติ

รัฐบาลไทยกำลังทำงานร่วมกับภาคเอกชน นักการศึกษา และภาคประชาสังคม ในการพัฒนาแผนงานเพื่อยกระดับทักษะของแรงงานไทย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมว่า ประชารัฐเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ของทั้ง 3 ภาค ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ และเชื่อว่าไม่มีใครสามารถหยุดยั้งพลังของประชารัฐได้ โดยก้าวเริ่มต้นเล็กๆ ในวันนี้จะกลายเป็นก้าวที่ใหญ่มากในอนาคต และจะช่วยสร้างให้เกิดแรงกระทบให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น นายสมคิด กล่าวด้วยว่า การเรียนอาชีวะไม่ได้มีความสำคัญน้อยไปกว่าการเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เพราะเป็นพลังที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ วิชาชีพเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งระบบการศึกษาของไทยมีหลายอย่างที่บิดเบี้ยวไป ต้องสร้างให้เด็กมีความสามารถและก้าวทันโลก ต้องร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา พิจารณาทิศทางใหม่ๆ ของโลก ต้องทำแบบก้าวกระโดดเหมือนประเทศเกาหลีใต้ที่ก้าวขึ้นมาอย่างทุกวันนี้ได้เพราะไม่ได้ตามโลก แต่กระโดดดักหน้าโลก ซึ่งของไทยต้องไปตรงจุดนั้น คนไทยแม้จะเริ่มช้าแต่เมื่อได้ทำแล้วจะไปได้เร็วเพราะมีไหวพริบ

แหล่งที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 23 ม.ค. 2559

 

 

กิจกรรมในอนาคต


การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครู วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

โครงการ Chevron Enjoy Science เตรียมจัดการประชุมครูแกนนำเพื่อวางแผนสำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการในจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อมุ่งสู่การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในรอบขยายผลในจังหวัดสมุทรปราการ ขอนแก่น และนครศรีธรรมราชในเดือนเมษายน 2559 การอบรมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่ออบรมครูคณิตศาสตร์ 180 คน และครูวิทยาศาสตร์ 240 คนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 130 โรงเรียนเพื่อพัฒนาการสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้แบบสืบเสาะ มีส่วนร่วมในชั้นเรียน และได้พัฒนากระบวนการคิดและปฏิบัติในบทเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยผู้เชี่ยวชาญจาก Teachers College มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา

กลับไปข้างบน

Share this article

Latest.

ต่อยอดอนาคตที่ยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมไทย

มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียเห็

สะเต็มศึกษา การเรียนรู้ยุคใหม่สำหรับผู้หญิง

การศึกษาของเวียดนามพัฒนาข

โครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง: เคล็ด (ไม่ลับ) เพื่อ “แม่หญิงเจ้าของธุรกิจ”เติมไฟแห่งความหวัง สู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

เส้นทางการประกอบอาชีพของ