Blog (TH)

จดหมายข่าวโครงการ Chevron Enjoy Science ฉบับที่ 2

ม.ค. 26,2023

 

ข่าวสารโครงการ Chevron Enjoy Science


นายร็อบ สโตเวลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน TVET จาก Chisholm Institute, Australia บรรยายเกี่ยวกับรูปแบบการจัดตั้ง TVET Hub ในประเทศไทย

Enjoy Science เสนอ 3  โมเดล TVET Hub หวังปฎิรูปอาชีวะไทย

งาน Special STEM Thailand Forum 2nd: The Role of Private Sector in STEM-Related TVET Education“Designing Phase and Discussion for Next Step” จัดขึ้นเมื่อวันที่  1  กันยายน 2558 ด้วยความร่วมมือของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน  เพื่อให้ที่ปรึกษาของโครงการ Chevron Enjoy Science ทั้งสองท่าน คือ นายแพททริก โจนส์ และ นายร็อบ สโตเวลล์ จาก  Chisholm Institute ประเทศออสเตรเลียได้นำเสนอรูปแบบการจัดตั้งศูนย์ TVET (TVET Hub) ที่ออกแบบร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ

นายร็อบ สโตเวลล์ ได้กล่าวถึงหน้าที่หลักของศูนย์ TVET ในการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 6 ข้อคือ 1. การสร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่งระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม 2.การพัฒนาหลักสูตรสะเต็มศึกษาและTVET เพื่อฝึกทักษะที่ตลาดต้องการ 3.การใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ 4. การฝึกนักศึกษาให้มีความสามารถทางด้านสะเต็ม  5. การพัฒนาคุณภาพครูผู้สอนทางด้าน TVET ให้มีทักษะทางด้านเทคนิค อุตสาหกรรมและวิธีการสอนที่ถูกต้อง และ 6. การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีสำหรับ TVET

หลังจากการประชุมร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกว่า 20 องค์กร  นายสโตเวลล์และทีมงานโครงการ Chevron Enjoy Science ได้นำเสนอรูปแบบการจัดตั้งศูนย์ TVET 3 แบบให้สอดคล้องกับความหลากหลายของภาคอุตสาหกรรมในภูมิภาคต่างๆในประเทศไทย แบบที่หนึ่งคือรูปแบบที่มีภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้ขับเคลื่อน (Industry-Led TVET Hub) แบบที่สองคือรูปแบบที่มีมหาวิทยาลัยเป็นผู้ขับเคลื่อน (University-Led TVET Hub) และแบบที่สามคือรูปแบบที่มีภาคธุรกิจเป็นผู้ขับเคลื่อน (Business-Led TVET Hub)

สำหรับในปีแรกของโครงการ Chevron Enjoy Science โครงการจะดำเนินการโดยการสร้างความร่วมมือกับ TVET Hub สองแห่ง คือ  Automotive Human Resource Development Academy(AHRDA) ที่ จ.สมุทรปราการ ภายใต้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่มีภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้ขับเคลื่อน โดย AHRDA จะให้ความช่วยเหลือในส่วนของการอบรมทางด้านสะเต็มและความรู้ทางเทคนิคของครู และจะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเพื่อพัฒนาสะเต็มศึกษาสำหรับนักเรียนอาชีวศึกษา และมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและสถาบันไทย-เยอรมันให้ความช่วยเหลือทางด้านการอบรมทักษะทางเทคนิคและการจ้างงานสำหรับนักเรียนปวส. ทั้งนี้ AHRDA จะมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์     

TVET Hub แห่งที่สองดำเนินงานด้วยการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่ ที่มีมหาวิทยาลัยเป็นผู้ขับเคลื่อน โดยจะให้ความช่วยเหลือด้านการอบรมครูทางด้าน TVET และสะเต็มศึกษา การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาวิชาชีพ การพัฒนาโครงสร้างของ Hub  การประเมินผลและการประชาสัมพันธ์ TVET  โดยจะมุ่งเน้นไปที่สามอุตสาหกรรมคือ การเกษตรและอาหาร  ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  ด้วยรูปแบบการดำเนินงานแบบความร่วมมือภาครัฐ-เอกชนที่บริษัทเอกชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างระบบการเรียนรู้จากการทำงานสำหรับนักศึกษา เช่นบริษัทมิชลินในส่วนของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และ BDI Group ในส่วนของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

โดยงานในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาที่ได้ร่วมให้ความเห็นเพื่อพัฒนาระบบ TVET ในประเทศไทย  และถือเป็นงานเสวนาโต๊ะกลมครั้งที่สองของโครงการ Chevron Enjoy Science ที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความตระหนักด้านสะเต็มศึกษา และ TVET ในประเทศไทย

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ 

กลับไปข้างบน

กิจกรรมล่าสุด


Bangkok Mini Maker Faire

>นักเรียนไทยและนักปรดิษฐ์ได้เรียนรู้หลักการประยุกต์หลักการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและไฟฟ้าในงาน Bangkok Mini Maker Faire ในครั้งที่ 1
งาน Bangkok Mini Maker Faire  มหกรรมแสดงผลงานและสิ่งประดิษฐ์ของ “เมกเกอร์” จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26-27 กันยายน 2558 ที่สยามสแควร์ โดยความร่วมมือของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อให้นักประดิษฐ์ชาวไทยได้ร่วมจัดแสดงผลงานประดิษฐ์ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ทางด้าน  ไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์ การเขียนโปรแกรม งานฝีมือ ดนตรี อาหาร ศิลปะ และอื่นๆ  ทั้งนี้ทางโครงการ Chevron Enjoy Science ได้มีโอกาสออกบูธ “ห้องเรียนวิทยาศาสตร์” ที่ใช้หลักการเรียนแบบสืบเสาะหาความรู้  โดยนักเรียนและครูวิทยาศาตร์ที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นผู้สาธิตการใช้สื่อการเรียนการสอนให้กับผู้เข้าร่วมงานที่สนใจ โดยงานในครั้งนี้ถือเป็น Maker Faire  ครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทย และได้มีการจัดแสดงผลงานการออกแบบจากเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ ของผู้ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจากโครงการ Enjoy Science: Let’s Print the World และมีการประกาศผลผู้ที่ได้รับรางวัลอีกด้วย

การประวิชาชุมการระดับชาติ “การยกระดับคุณภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน”

ผู้เข้าร่วมงานร่วมฟังบรรยายจากศาสตรจารย์ Brian J. Reiser ที่มาบรรยายเรื่องการพัฒนาสะเต็มศึกษา
การประชุมวิชาการระดับชาติ “การยกระดับคุณภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน” ประจำปี 2558 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12-13 กันยายน 2558 ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร โดยทางโครงการ Chevron Enjoy Science ได้ให้การสนับสนุนการปรการประชุมวิชาการระดับชาติ “การยกระดับคุณภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน” ประจำปี 2558 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12-13 กันยายน 2558 ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร โดยทางโครงการ Chevron Enjoy Science ได้ให้การสนับสนุนการประชุมในส่วนการพัฒนาสะเต็มศึกษา ด้วยการเชิญ ศาสตราจารย์ Brian J. Reiser ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การเรียนรู้ จากคณะศึกษาศาสตร์และนโยบายภาคสังคม มหาวิทยาลัย Northwestern ผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนการศึกษาด้าน STEM มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์ และศาสตราจารย์ Thomas Corcoran และ Kate Montgomery จาก Teachers College, Columbia University มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองต่อการพัฒนาการเรียนวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศเพื่อเป็นบทเรียนสำหรับประเทศไทย โดยการประชุมครั้งนี้มีครูมากกว่า 700 คนเข้าร่วมงาน

กิจกกรม Pre-Teaching Service

คณาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยได้เรียนรู้หลักการจัดการศึกษาและหลักสูตรนิเทศก์จากผู้เชี่ยวชาญจาก Teachers College
กิจกรรม Pre Teaching Service จัดขึ้นเมื่อวันที่  5-6 กันยายน 2558 โดยโครงการ Chevron Enjoy Science เพื่อให้คณาจารย์ 14 ท่านจากสามมหาวิทยาลัยคือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาและมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์เรียนรู้หลักการบริหารการศึกษา และหลักการพัฒนานักศึกษาฝึกงาน (ครูฝึกสอน) จาก Prof. Tom Corcoran ผู้อำนวยการร่วมจากสถาบัน Consortium for Policy Research in Education (CPRE), Teachers College, Columbia University  Prof. Lin Goodwin รองคณบดี Teachers College, Columbia University  และผู้เชี่ยวชาญจากโครงการฯ

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับโครงการ Chevron Enjoy Science โดยที่จะทำหน้าที่เป็น STEM Hub ในระดับภูมิภาค
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของโครงการ Chevron Enjoy Science กับมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีขึ้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2558 และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลามีขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 โดยทั้งสองมหาวิทยาลัยนี้จะทำหน้าที่เป็น ศูนย์สะเต็ม (STEM Hub) ในระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ในจังหวัดของตัวเอง ( 123 โรงเรียนใน จ.ขอนแก่นและ 74 โรงเรียนใน จ.สงขลา) ในด้านการพัฒนาวิชาชีพครู การพัฒนาการศึกษา การเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการและกระจายสื่อการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตรการนิเทศก์ติดตามนักศึกษาฝึกประสบการณ์และกิจกรรมสร้างความตระหนักทางด้าน STEM ร่วมกับภาคีต่างๆในระดับประเทศและท้องถิ่น

กิจกรรม Thailand STEM Festivals

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้หลักการแก้ไขปัญหาในส่วนของการออกแบบและดำเนินกิจกรรมทางด้านสะเต็มศึกษา
กิจกรรม Thailand STEM Festival 2015  จัดขึ้นที่ จ.นครปฐม (วันที่ 3-5 สิงหาคม 2558) จ.เชียงใหม่ (วันที่ 6-8 สิงหาคม 2558) และ จ.นครราชสีมา (วันที่ 13-15 สิงหาคม 2558) ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่ทางโครงการ Chevron Enjoy Science ได้ร่วมให้การสนับสนุนในสองกิจกรรมคือ งานปาฐกถาในหัวข้อ “Science, Technology, Engineering, & Mathematics (STEM) Education is Here to Stay” ที่ว่าด้วยเรื่องความสำคัญของสะเต็มศึกษา และ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ Problem Solving Approaches in STEM ที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการออบแบบเชิงวิศวกรรมศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. เอิดเวิร์ด เอ็ม รีฟ จากมหาวิทยาลัยยูทา สเตท ประเทศสหรัฐอเมริกา มาเป็นวิทยากรบรรยายหลัก

กิจกรรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความตระหนักรู้ทางด้านสะเต็มศึกษาและ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ หรือ(Technical Vocational Education and Training – TVET)ของโครงการ Chevron Enjoy Science โดยในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 159 คนใน 3 จังหวัด

กิจกรรม “สนุกวิทย์ เพื่อครอบครัวและบุตรหลานสื่อมวลชน”

เด็กๆได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อชีวิตเขา ณ.อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
กิจกรรม “สนุกวิทย์ เพื่อครอบครัวและบุตรหลานสื่อมวลชน”  จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25-26 กรกฎาคม 2558 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อให้ครอบครัวสื่อมวลชนจำนวน 28  ครอบครัว ซึ่งมีบุตรหลานจำนวนทั้งสิ้น  43 คนได้ร่วมสนุกกับกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เช่น การประดิษฐ์กระดิ่งไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้  การประดิษฐ์เครื่องดีด  กิจกรรมการแสดงโชว์วิทยาศาสตร์  การฝึกทำไอศครีมจากวัสดุง่ายๆ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะปลูกฝังให้เยาวชนมีความสนใจในวิทยาศาสตร์และเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของพวกเขาโดยกิจกรรมในครั้งนี้เป็นกิจกรรมภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)และได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Chevron Enjoy Science

ข่าวสารสะเต็มศึกษา


ความสำคัญของการเรียนรู้จากการทำงานจริง (Work-Based Learning)

>การเรียนรู้จากการทำงานจริงคือส่วนสำคัญของการพัฒนาระบบ TVET ในประเทศไทยของโครงการ Chevron Enjoy Science โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้จากการปฎิบัติงานจริงจาก TVET Hub ในระดับภูมิภาคของโครงการฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการศึกษา
สำหรับการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ หรือ TVET นั้น ห้องเรียนไม่ใช่แหล่งเรียนรู้เพียงอย่างเดียวของนักศึกษา  แต่การเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานจริง หรือ work-based learning คือวิธีการเรียนที่มีประสิทธิภาพที่นักศึกษาได้เรียนรู้ทักษะจากการทำงาน โดยจากรายงาน Revisiting Global Trends in TVET: Reflections on Theory and Practice ที่ตีพิมพ์โดยศูนย์เทคนิคและอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมนานาชาติของยูเนสโก (UNESCO-UNEVOC International Centre for Technical and Vocational Education and Training) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการเรียนรู้จากการทำงานไว้อย่างน่าสนใจ

นายริชาร์ด สวีท Professorial Fellow จาก Graduate School of Education,University of Melbourne ได้กล่าวถึงประโยชน์จากการเรียนรู้จากการทำงานจริงในหลากหลายวัฒนธรรม โดยการเรียนรู้จากการทำงานจริงสามารถยกระดับความสามารถทางการผลิตและนวัตกรรมของนักศึกษาได้อย่างดีเยี่ยม ระบบอาชีวศึกษาของประเทศเยอรมันได้ใช้ระบบการเรียนรู้ภายในขององค์กร และเมื่อเปรียบเทียบทักษะแรงงานของประเทศเยอรมันและอังกฤษ  บริษัทเยอรมันมีความสามารถทางการผลิตที่สูงกว่าอย่างชัดเจน

“งานศึกษาชิ้นนี้นอกจากจะกล่าวถึงความเชื่อมโยงในเรื่องของการพัฒนาทักษะด้วยการฝึกงานภายในบริษัท (ประเทศเยอรมัน) แล้ว ยังกล่าวถึงความสำคัญของคุณภาพทักษะแรงงานที่มีผลต่อความสามารถทางการผลิตขององค์กรเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรที่มีทักษะต่ำ” นายสวีทกล่าว

การเรียนรู้จากการทำงานจริงคือสิ่งที่สำคัญที่จะดึงดูดให้เยาวชนสนใจอาชีวศึกษาและนักศึกษาที่ขาดแรงบันดาลในการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงจะช่วยให้ผู้เรียนได้ทำงานโดยตรงร่วมกับชุมชนและองค์กรภายใต้การดูแลของครูพี่เลี้ยง (mentor) ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก นักศึกษาได้มีโอกาสประยุกต์วิชาที่เรียนสู่การทำงานจริง โดยประสบการณ์เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาในด้านทักษะการแก้ปัญหาและความรู้ในบริบทต่างๆ รวมถึงการสร้างเครือข่ายและโอกาสพัฒนาอาชีพให้มีความหลากหลาย

นอกจากนี้ การเรียนรู้จากการทำงานจริงจะช่วยให้เยาวชนมีช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ผู้ใหญ่ได้อย่างราบรื่น โดย นายสวีท กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเรียนรู้จากการทำงานจริงของนักเรียนสู่การจ้างงานหลังจบการศึกษา   นักศึกษาในประเทศเนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ และออสเตรเลีย ที่การศึกษาได้ใช้ระบบการเรียนรู้จากการทำงานจริง  มีโอกาสได้งานทำหลังจากจบการศึกษามากกว่านักศึกษาจากประเทศอย่างฝรั่งเศสและอิตาลีที่มีระบบการศึกษาแบบแยกส่วน

การเรียนรู้จากการทำงานจริงแบบบูรณาการคือวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่จะสามารถพัฒนาหลักสูตร TVET และเพิ่มศักยภาพของแรงงาน  ซึ่งไม่ใช่แค่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์  แต่นักศึกษายังได้เรียนรู้ทักษะสร้างเครือข่ายและเพิ่มโอกาสทางอาชีพ  และด้วยความต้องการแรงงานที่มีทักษะในโลกปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น  จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล สถาบันอาชีวศึกษาจะพัฒนาการเรียนรู้จากการทำงานจริงแบบบูรณาการ 

อ่านเพิ่มเติม: Revisiting Global Trends in TVET: Reflections on Theory and Practice

 

กลับไปข้างบน

บทความ โดย ผศ.ดร.อมรา เขียวรักษา


การสืบเสาะหาความรู้: วิธีการเพิ่มพลังแห่งความคิดทางวิทยาศาสตร์

 

ผศ.ดร.อมรา เขียวรักษา
ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาคุณภาพครู มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์
คนทั่วไปคงคาดไม่ถึงว่าเราจะไปนอกโลกเพื่อเยือนดาวดวงอื่นได้ ที่แท้จริงผิวของดวงจันทร์ไม่ได้สวยอย่างที่ตาเห็น วัสดุบางชนิดมีคุณสมบัติเปลี่ยนไป เมื่อนักวิทยาศาสตร์เข้าไปจัดเรียงโครงสร้างของอนุภาคใหม่ ทำให้มีขนาดที่เล็กลงมากแต่มีประสิทธิภาพในการใช้งานสูงขึ้น เช่น ท่อนาโน  ตัวอย่างดังกล่าวน่าทึ่งมากกับความคิดและจิตนาการที่นำสู่การพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน และจะเห็นว่าธรรมชาติไม่ได้ตั้งใจปกปิดความจริงที่มีอยู่อย่างซับซ้อน  แต่ขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์จะมีความรู้ความสามารถที่จะสืบเสาะหาความจริงของธรรมชาติลงไปได้ลึกระดับใด

การสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์(Scientific Inquiry) เป็นวิธีการที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการศึกษาธรรมชาติในแง่มุมต่างๆ ประกอบด้วยทักษะกระบวนการที่หลากหลายเริ่มตั้งแต่การรู้จักสังเกต ตั้งคำถาม รวบรวมข้อมูล ค้นคว้าทดลอง อภิปราย เผยแพร่ พิจารณาไตร่ตรอง เพิ่มเติมองค์ความรู้ใหม่อยู่เสมอ  แต่ถ้ามองในมุมของโรงเรียน การสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หมายถึงกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนเพื่อให้เข้าใจแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์และเข้าใจว่านักวิทยาศาสตร์ทำงานอย่างไร

การพัฒนาครูให้เข้าใจถึงแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการสืบเสาะและพัฒนาทักษะการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถสืบเสาะและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองได้จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ครูควรจัดกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ฝึกทักษะการสังเกต และตั้งคำถามตามความสนใจ รวบรวมหลักฐานข้อมูล เพื่อออกแบบการทดลองค้นคว้า อภิปรายข้อมูล  และนำเสนอข้อมูล โดยคำนึงถึงความรู้สึกของผู้เรียนด้านการรักที่จะเรียนรู้วิทยาศาสตร์ควบคู่ไปพร้อมกับความเข้าใจในมโนทัศน์เนื้อหาที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้ยากเกินไปสำหรับผู้เรียนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้อย่างนี้มาก่อน ครูควรมีการพัฒนาผู้เรียนตามลำดับตั้งแต่สืบเสาะแบบปิดที่ครูกำหนดแนวทางให้ แบบเปิดปานกลางมีครูกำหนดแนวทางการศึกษาให้บางส่วน จนกระทั่งแบบเปิดกว้างโดยครูให้ผู้เรียนได้ออกแบบการสืบเสาะด้วยตนเองตามความสนใจ

โครงการ Enjoy Science  เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ช่วยพัฒนาให้ครูวิทยาศาสตร์เข้าใจและเข้าถึงกระบวนการสืบเสาะได้ง่ายขึ้น เพราะครูได้รับการพัฒนาแบบปฏิบัติจริงประกอบกับสื่อการสอนที่สร้างสรรค์ ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้กับครูที่จะนำสู่นักเรียน และความมั่นใจของผู้บริหารสถานศึกษาว่าได้ใช้แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ จึงจัดว่าเป็นโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ลงทุนแล้วได้ผลระยะยาวอย่างยั่งยืน

 

กลับไปข้างบน

ข่าวสารการศึกษาไทย


สสค. เลือกชลบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องเพื่อการปฏิรูปการศึกษา

ชลบุรีถูกเลือกให้เป็น 1 ใน 10 จังหวัดนำร่องเพื่อทำโครงการปฏิรูปการศึกษาโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาโดยใช้ จ.ชลบุรีเป็นฐาน พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อสามารถจัดการเรียนการสอนได้ด้วยตัวเองเพื่อเป็นการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน ซึ่ง จ.ชลบุรี เป็น 1 ใน 10 จังหวัดนำร่อง ที่ สสค. คัดเลือกให้จัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านการศึกษา โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อตอบสนองนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลเพื่อเพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถของประชากรวัยเรียนให้มีสัมมาชีพ

โดย นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการ จ.ชลบุรี กล่าวว่าชลบุรีเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมและแหล่งท่องเที่ยว การบริหารการศึกษาจึงควรเน้นความสำคัญต่อการผลิตกำลังคนในอนาคตให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม หลักสูตรการศึกษาเพื่อการมีงานทำของ จ.ชลบุรี “Chonburi Model” ได้เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ร่วมคิด  ร่วมกำหนดทิศทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน และดึงศักยภาพของภาคธุรกิจเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการศึกษาในภาคปฏิบัติและจัดทำหลักสูตรร่วมกัน เพื่อตอบโจทย์บริบทของธุรกิจในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ โดยหวังว่าด้วยการสนับสนุนของ สสค. ชลบุรีจะสามารถบริหารจัดการความต้องการทางการศึกษาภายในจังหวัดสำหรับนักเรียนและภาคอุตสาหกรรมได้อย่างลงตัว

แหล่งที่มา http://www.manager.co.th

กิจกรรมในอนาคต


การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Roll Out Activity)

การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จะมีขึ้นใน จ.ขอนแก่นในวันที่ 15-17 ตุลาคม และที่ จ. สมุทรปราการและ จ. สงขลาในวันที่ 21-23 ตุลาคม 2558 โดยครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์กว่า 300 คน จะได้เรียนรู้การใช้สื่อการเรียนการสอนในเรื่องของสมการเชิงเส้น ภัยพิบัติจากธรรมชาติ ระบบร่างกายมนุษย์ และกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดกระบวนการสืบเสาะและการแก้โจทย์ปัญหาโดยความร่วมมือระหว่างภาคีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยภายในประเทศ    ครูวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญจาก Teachers College, Columbia University

 

กลับไปข้างบน

Share this article

Latest.

โครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง: เคล็ด (ไม่ลับ) เพื่อ “แม่หญิงเจ้าของธุรกิจ”เติมไฟแห่งความหวัง สู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

เส้นทางการประกอบอาชีพของ

People at Kenan: คุณจารุศรี จิรวิสิฐกุล

การศึกษาคือรากฐานสำคัญของ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ