ข่าวสารโครงการ Chevron Enjoy Science
พิธีเปิดโครงการ Chevron Enjoy Science: จากซ้ายไปขวา นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี นายแบรด มิดเดิลตัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เชฟรอนเอเชียเซ้าท์ จำกัด ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
เชฟรอนฯ เปิดตัวโครงการ Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต โดยดึงรัฐ เอกชน ร่วมพลิกโฉมการศึกษาไทย
โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558 ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติทั้งจากภาครัฐ เอกชน และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นโครงการที่จะมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยด้วยการสร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมของประเทศไทยด้วยการพัฒนาสะเต็มศึกษา (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์) และการศึกษาและการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะด้านเทคนิคและอาชีพหรือ TVET(Technical Vocational Education and Training) ด้วยความร่วมมือขององค์กรพันธมิตร 9 หน่วยงานด้วยงบประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี
โครงการ Chevron Enjoy Science เป็นโครงการภายใต้การสนับสนุนของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยมีมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียเป็นผู้ดำเนินโครงการหลักร่วมกับอีกหน่วยงานพันธมิตร 7 องค์กร ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ตัวแทนจากองค์กรพันธมิตรทั้ง 9 หน่วยงานได้ร่วมลงนาม “บันทึกข้อตกลง” (MOU) เพื่อร่วมดำเนินโครงการ โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ก่อตั้งและประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียร่วมเป็นสักขีพยาน
นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า เชฟรอนตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาที่จะเป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม (STEM) อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สอดรับกับการเตรียมความพร้อมของประเทศเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบดิจิตัลเต็มรูปแบบ และทางโครงการมีความตั้งใจที่จะพัฒนาคุณภาพครู นักเรียนและผู้บริหารสถานศึกษาซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างความภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการศึกษา ดังนั้น เชฟรอนจึงให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการ Chevron Enjoy Science เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว
ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้กล่าวเพิ่มเติมว่า วัตถุประสงค์ของโครงการเชฟรอน Enjoy Science นั้นสอดรับกับแผนของรัฐบาลในการขับเคลื่อนความร่วมมือรัฐ-เอกชนเพื่อพัฒนาทักษะกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะนำมาสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามยุทธศาสตร์ของประเทศ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มการรับรู้ของสังคมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบบูรณาการ โครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญต่อการปฏิรูปประเทศไทย โดยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยปัจจัยเป็นหลักไปสู่เศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรม
ทั้งนี้ความสำเร็จของโครงการจะเกิดจากการเชื่อมโยง 3 องค์ประกอบหลักเข้าด้วยกัน คือ 1.การเสริมสร้างศักยภาพทางด้านสะเต็มศึกษาสำหรับครู นักเรียนและผู้บริหารสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 2.การส่งเสริมและพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนกับการพัฒนาการศึกษาทางด้าน TVET ในเรื่องของหลักสูตรการเรียน การฝึกงาน นักเรียนพี่เลี้ยง (Student mentor) และการประกันรายได้หลังจบการศึกษาและ 3.การสร้างความตระหนักรู้และสร้างเครือข่ายเพื่อสื่อสารกับผู้ปกครอง นักเรียน และสังคมเกี่ยวกับความสำคัญของสะเต็มศึกษาต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสนับสนุนให้นักเรียนทำงานในสายเทคนิคเพื่อผลตอบแทนที่สูง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Chevron Enjoy Science
กิจกรรมล่าสุด
การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
ทั้งนี้ การเรียนรู้ที่เน้นการฝึกปฎิบัติและจากการแก้โจทย์จากสถานการณ์จริงสามารถช่วยพัฒนาการมีส่วนร่วมของนักเรียนในชั้นเรียน และยกระดับคุณภาพของการเรียนการสอนได้
การประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารสถานศึกษาด้านความเป็นผู้นำทางวิชาการ
คาราวานวิทยาศาสตร์
ข่าวสารโครงการ Chevron Enjoy Science
เปิดประตูภาคเอกชนสู่การพัฒนาสะเต็มศึกษาและTVET

งานสัมมนาในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากบุคคลในหลายวงการ ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ข้าราชการ ผู้เชี่ยวชาญด้านTVETและภาคเอกชนมากถึง 122 คน ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาหลักสูตร TVET ในบริบทต่าง ๆ โดยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Chevron Enjoy Science ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการสนับสนุนของโครงการ Chevron EnjoyScience
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าประเทศไทยพยายามพัฒนาการเข้าถึงการศึกษาทางด้าน TVET สำหรับเยาวชน โดยได้กล่าวถึง 4 แนวทางเพื่อการพัฒนาคือ 1. ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน 2.การคิดเชิงนวัตกรรมเกี่ยวกับสะเต็มศึกษา 3.การยอมรับจากสังคมและความเข้าใจต่อ TVET และ 4.การยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ
ช่วงแรกของงานสัมมนา ตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนทั้ง 4 ท่านมีความเห็นตรงกันว่าความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนคือแนวทางที่สำคัญที่สุดต่อการพัฒนาสะเต็มศึกษาและ TVET เพราะความร่วมมือของทั้งสองภาคส่วนคือสิ่งสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดย หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กระทรวงแรงงาน) กล่าวว่า เรามีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงความต้องการของภาคอุตสาหกรรมกับแรงงานที่มีทักษะ โดยภาคธุรกิจจำเป็นต้องร่วมมือกับรัฐบาลในการกำหนดมาตรฐานฝืมือแรงงานเพื่อให้สถาบันการศึกษาผลิตบุคคลากรได้ตรงตามความต้องการเหล่านั้น
ตัวแทนจากภาคเอกชน ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธาน บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัทไทยหลายแห่งให้ความสำคัญกับ TVET เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการรักษาแรงงานที่มีฝีมือเอาไว้เพื่อพัฒนาประเทศ โดยกล่าวย้ำว่าการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนคือยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศต่อการพัฒนามาตรฐาน TVET
ในช่วงที่สองของงานสัมมนา ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากต่างประเทศได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหาร TVET ในประเทศของตน นายร็อบ สโตเวลล์ ที่ปรึกษาจาก Chisholm Institute ประเทศออสเตรเลีย กล่าวถึงองค์ประกอบสามส่วนของอาชีวศึกษาในออสเตรเลีย กล่าวคือ 1. มาตรฐานระดับชาติที่คลอบคลุมงาน 90% ของทุกอาชีพ 2. ผู้สอนที่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านของผู้เรียน และ 3. การเข้าถึงการศึกษาด้าน TVET ของนักเรียน
“การอบรมวิชาชีพถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทั้งเยาวชนและแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงาน” มร.สโตเวลล์ กล่าว
ส่วน นางแอมเบอร์ ซ๊อป ผู้อำนวยการ Global STEM Alliance Programs, New York Academy of Sciences ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์การพัฒนา TVET ในสหรัฐอเมริกาว่ารัฐบาลปัจจุบันได้ริเริ่มดำเนินงานให้โรงเรียนมีระบบการสอนในรูปแบบการคิดแก้ไขปัญหาที่นักเรียนได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริงในชีวิตเพื่อพัฒนากรอบแนวคิดในบริบทต่างๆและการคิดเชิงวิเคราะห์ เพราะการคิดเชิงวิเคราะห์คือพื้นฐานสำคัญทางด้าน TVET ที่จะพัฒนาทักษะ ความสามารถและการสร้างนวัตกรรมของแรงงาน
งานสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมแรกของโครงการ Chevron Enjoy Science ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับTVET โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาสะเต็มศึกษาและ TVET ในประเทศไทย และการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาทั้งสองด้านดังกล่าว
บทความ โดย ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา
ความจำเป็นเร่งด่วนในการขยายการเข้าถึงและขอบเขตการศึกษาวิทยาศาสตร์

ในนิทรรศการหนึ่ง ณ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระประทุม ได้มีการจัดแสดงของเล่นส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ของเล่นดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวพันระหว่างแนวคิดทางด้านการพัฒนาและพันธกิจของพระองค์ท่านต่อการใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าพระองค์ท่านได้แรงบันดาลใจมาจากการมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติและของเล่นที่ประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้
ในความพยายามที่จะขยายการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่เราได้มองข้ามทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของเมืองไทยที่สามารถจะนำมาใช้เป็นแหล่งในการเรียนรู้ แต่เราจำกัดการเรียนรู้ให้อยู่แต่การดำเนินกิจกรรมภายในห้องเรียน ระบบการศึกษาของประเทศไทยปฏิเสธความจริงที่ว่า วิทยาศาสตร์คือวิชาที่สำคัญที่สุดต่อการเชื่อมโยงการเรียนรู้เข้ากับชีวิตประจำวัน เพราะถ้าการเรียนรู้เหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงปฐมวัย เราสามารถที่จะยกระดับความสนุกของการเรียนและการค้นพบของนักเรียน ไปสู่การเป็นนวัตกรและเป็นบุคคลผู้ฝักใฝ่ต่อการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต
จากประสบการณ์ส่วนตัว ดิฉันได้เห็นเด็กนักเรียนหลายคนที่พัฒนาความสนใจและความเข้าใจแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ผ่านการเล่นและการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ดิฉันสนใจสนับสนุนผู้ปกครองและชุมชนให้มีส่วนร่วมกับคุณครูในการสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของวิชาวิทยาศาสตร์และเติมเต็มเป้าหมายในการดำเนินการตามแนวคิดวิทยาศาสตร์เพื่อมวลชน
จากความคิดเหล่านั้น ทำให้ดิฉันมีความยินดีที่จะสนับสนุนโครงการ ”เชฟรอน สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ที่ถูกออกแบบมาเพื่อพัฒนาเทคนิคการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์โดยใช้หลักการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ ที่จะช่วยให้เด็กได้มีส่วนร่วมในห้องเรียนมากขึ้น โดยนำบทเรียนที่ได้จากการดำเนินชีวิตประจำวัน และประยุกต์เข้ากับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในห้องเรียน
ทั้งนี้ 3 เดือนแรกของการดำเนินโครงการ จะมีครูวิทยาศาสตร์มากกว่า 740 คน จากโรงเรียนเกือบ 200 แห่งได้รับการอบรมพัฒนาวิชาชีพเพื่อพัฒนาทักษะการสอน และได้เรียนรู้การประยุกต์เทคนิคการสอนแบบใหม่ในชั้นเรียนของตน
โครงการเช่น “เชฟรอน สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” จะมีส่วนสำคัญต่อกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้แบบใหม่ๆ แต่ที่สำคัญ เราทุกคนจำต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์และบทบาทของวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ผู้กำหนดนโยบายต้องให้ความสำคัญต่อการเข้าถึงและคุณภาพของระบบการเรียนวิทยาศาสตร์ ที่ต้องก้าวทันความท้าท้ายในอนาคต โดยสิ่งเหล่านี้นอกจากจะมีความสำคัญต่อเด็กรุ่นใหม่แล้ว ยังเป็นก้าวสำคัญต่อการสร้างประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้า มีนวัตกรรม และเป็นประเทศที่ใช้ทักษะขั้นสูง
ข่าวสารสะเต็มศึกษา
สะเต็มศึกษากับผู้หญิงในเอเชีย

สถิติเหล่านี้ได้มาจากการศึกษาของยูเนสโกประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่ศึกษาถึงความแตกต่างทางเพศต่อการศึกษา และความสำเร็จของผู้หญิงในอาชีพที่เกี่ยวกับสะเต็มที่มีแนวโน้มว่าจะลดน้อยลงเรื่อยๆในเอเชีย
จากรายงาน A Complex Formula: Girls and Women in Science, Technology, Engineering and Mathematics in Asia พบว่าผู้หญิงในประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย มองโกเลีย เนปาล เกาหลีใต้ และเวียดนาม เผชิญกับอุปสรรคมากมายที่เหนี่ยวรั้งพวกเขาต่อการเรียนในวิชาสะเต็ม เช่น ปัจจัยทางสังคม (ความกังวล) การไม่มีต้นแบบทางสะเต็มศึกษา อุปกรณ์เรียนรู้ และแผนการเรียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ลักษณะเฉพาะประจำเพศ (gender stereotypes) ดูแย่ลงไปกว่าเดิม
นอกจากนี้รายงานของยูเนสโกยังพบว่าจำนวนของผู้หญิงที่จบปริญญาโทมีจำนวนน้อยกว่าผู้หญิงที่จบปริญญาตรีอยู่มาก ซึ่งสะท้อนได้ว่าการศึกษาของผู้หญิงทางด้านสะเต็มในระดับสูงมีความหลากหลายในแต่ละประเทศ โดยผู้หญิงมักจะให้ความสำคัญกับเรื่องกฏเกณฑ์ในวิถีชิวิตมากกว่าเรื่องของการศึกษาในระดับสูง
รายงายชิ้นนี้ได้เสนอข้อแนะนำเพื่อเพิ่มบทบาทผู้หญิงในอาชีพทางด้านสะเต็ม เช่น การเพิ่มมิติทางเพศทางการศึกษา นโยบายแรงงานจากภาครัฐ มิติทางเพศต่อแนวทางการสอน ทุนการศึกษา การปรับปรุงโปรแกรมสนับสนุนต่างๆ และการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีอาชีพทางด้านสะเต็ม
เด็กไทยคว้า 6 เหรียญ จากการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 56
การแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 56 (The 56thInternational Mathematical Olympiad, IMO 2015) มีขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ระหว่างวันที่ 4 – 15 กรกฎาคม 2558 ด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์และมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา
ทีมไทยสามารถคว้าเหรียญมาได้ทั้งหมด 6 เหรียญ (2 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง) และจบอันดับที่ 12 จากผู้เข้าร่วมแข่งขัน 577 คน จาก 104 ประเทศ ทั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ และการแข่งขันครั้งต่อไปจะมีขึ้นที่ฮ่องกง
กิจกรรมในอนาคต
- กิจกรรม Thailand STEM Festival 2015 ที่สถาบันสงเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นเจ้าภาพ และได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Chevron Enjoy Science จะมีขึ้นที่นครราชสีมา (16-18 สิงหาคม) โดยโครงการฯจะให้การสนับสนุนในส่วนของกิจกรรมเวิร์คช็อปอบรมคุณครู และงานสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับการศึกษา นอกจากนี้ STEM Festival ยังมีนิทรรศการวิทยาศาสตร์และการประกวดสำหรับนักเรียนได้ร่วมสนุก
- พิธีลงนาม “บันทึกข้อตกลง” (MOU) ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะมีขึ้นในวันที่ 28 สิงหาคม และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาในวันที่17 กันยายน โดยสองมหาวิทยาลัยนี้จะเป็น Regional Hub ของโครงการในการพัฒนาครูและผู้บริหารตลอดระยะเวลา 5 ปี