โสภณ อั๋นบางไทร ครูจากโรงเรียนวัดโพธิ์แทน จังหวัดนครนายก พบกับความท้าทายเช่นเดียวกับครูในโรงเรียนขนาดเล็กอื่นๆ ที่นักเรียนส่วนใหญ่มักจะเลือกเรียนต่อในโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองซึ่งมีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ครบครันและครูที่มากประสบการณ์ เหลือไว้เพียงนักเรียนกลุ่มผลการเรียนด้อยซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการครูเก่งมากที่สุด เพื่อสนับสนุนการทำงานของครูที่เผชิญความท้าทายเช่นเดียวกับครูโสภณ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียได้ดำเนินโครงการโบอิ้งยกระดับการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี (TEL: Technology Enhance Learning) โดยได้รับการสนับสนุนจากโบอิ้ง กรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี นครนายก และสมุทรปราการ ในการพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนและสนับสนุนอุปกรณ์การศึกษาเพื่อช่วยยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน
โบอิ้งและคีนันเริ่มดำเนินโครงการ TEL นับตั้งแต่ปี 2552 เพื่อพัฒนาครูผ่านการฝึกอบรมด้านนวัตกรรมการศึกษาและการนำสื่อเทคโนดลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน เพื่อช่วยให้ครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการปลูกฝังการคิดวิเคราะห์แก่นักเรียน นอกจากนี้ครูยังสามารถนำระเบียบวิธีวิจัย รวมถึงการเรียนรู้ผ่านโครงงาน (PBL: Project-Based Learning) การสอนโดยใช้สคริปต์ และการใช้คำถามที่สามารถควบคุมเวลาในชั้นเรียนได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วม อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และทักษะการแก้ปัญหา ตลอดระยะเวลา 7 ปีของโครงการ TEL มีบุคลากรด้านการศึกษาผ่านการอบรมจำนวนมาก ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษาจำนวน 145 คน ครูจำนวน 579 คน และสามารถสร้างครูแกนนำได้ถึง 200 คน โดยบุคลากรที่ผ่านการอบรมเหล่านี้สามารถจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียนรวมแล้วกว่า 500,000 คน โดยในปี 2559 ที่ผ่านมามีนักเรียนได้รับประโยชน์ราว 6,000 คน
การทำงานได้ช่วยให้ครูโสภณและครูท่านอื่นๆ สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยยกระดับผลการเรียนของนักเรียนได้ “บทเรียนและกิจกรรมต่างๆ จากโครงการ TEL นอกจากจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนยากๆ ได้ดีขึ้นแล้ว ยังส่งเสริมให้พวกเขาหัดวิเคราะห์โจทย์ฟิสิกส์ ที่สำคัญทุกคนสนุกกับการเรียนและกล้าแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ นักเรียนหลายคนสนใจที่จะเรียนต่อในสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) อีกด้วย” ครูโสภณกล่าว
เมื่อได้เห็นความความสำเร็จของนักเรียน ครูโสภณจึงได้ร่วมฝึกอบรมกับคีนันอย่างต่อเนื่องจนสามารถเป็นครูแกนนำที่ช่วยส่งต่อวิธีการเรียนการสอนนี้แก่ครูท่านอื่นๆ “ในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ที่มักจะเกี่ยวข้องกับการวัด การคำนวณ และการคิดวิเคราะห์ เราจะตั้งคำถามกับนักเรียนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการคิดโดยไม่เฉลยคำตอบ นักเรียนจะเกิดความท้าทายและสามารถแก้โจทย์ที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ได้”
ณ วันนี้มีโรงเรียนกว่า 20 แห่งในกรุงเทพฯ สมุทรปราการ นครนายก และนนทบุรี ที่นำหลักการของโครงการ TEL มาประยุกต์ใช้ร่วมกับโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ การผสมผสานระหว่างวิธีการสอนกับเทคโนโลยีอย่างลงตัวช่วยให้นักเรียนได้รับความรู้ไปพร้อมกับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อาทิ การคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร และความคิดสร้างสรรค์ ความสำเร็จเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยไปสู่อนาคต