Blog (TH)

พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ….. มาเช็คสุขภาพ(ทางการเงิน)ของคุณกันเถอะ!

ม.ค. 26,2023

มาเช็คสุขภาพ(ทางการเงิน)ของคุณกันเถอะ!

เขียนโดย น.ส. ปาริชาติ แสงทอง ผู้ช่วยที่ปรึกษา โปรแกรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ และผู้ประกอบการ

ทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลเอาใส่ใจ “สุขภาพร่างกาย” ของตนเองกันเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากยอดมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ย่อมต้องทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เพื่อความหวังและความฝันในเรื่องเดียวกัน นั่นก็คือ…เงินโบนัสปลายปี ซึ่งพวกเราทุกคนต่างถวิลหามันทุกค่ำเช้า ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มดูแลสุขภาพของตนเองอย่างจริงจัง เราควรทราบก่อนว่า สุขภาพร่างกายของเราสมบูรณ์แข็งแรงดีหรือไม่ ด้วยการตรวจเช็คสุขภาพร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อที่จะได้รู้ว่าตนเองมีความดันโลหิต น้ำตาล คอเลสเตอรอลอยู่ในระดับใด และมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ อีกหรือไม่ เมื่อทราบแล้ว เราจึงรู้ว่าจะต้องปรับปรุงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของตนในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้มีชีพจรชีวิตที่ยืดยาวต่อไปตราบนานเท่านาน

ที่เกริ่นนำมาซะยาวเหยียดขนาดนี้ ก็เพราะอยากให้ผู้อ่านที่เป็นบรรดายอดมนุษย์เงินเดือนทุกคนเล็งเห็นว่า เมื่อคุณได้รับเงินเดือนในแต่ละเดือน รวมไปถึงโบนัสก้อนโตที่ได้รับในตอนปลายปีนั้น คุณๆ ก็มักจะนำไปใช้จ่ายเพื่อให้รางวัลกับชีวิตด้วยวิธีการขั้นเทพเฉพาะตัวของแต่ละคนจนเพลิน นึกขึ้นมาได้อีกที.. อ้าว! ยังจ่ายหนี้ไม่หมดเลยนี่หว่า หรือไม่ก็.. ว่าจะกั๊กเงินไว้ออมซะหน่อยหมดอีกแล้ว ไม่เป็นไรเดือนหน้าค่อยว่ากัน และเหตุผลอื่นๆ อีกมากมายที่ยกแม่น้ำทั้ง 185 สายขึ้นมาเพื่อปลอบใจตนเอง เพราะไม่อยากยอมรับว่าตนเองมีพฤติกรรมการใช้เงินที่แย่ขนาดไหน และไม่เคยทราบเลยว่าควรจะต้องมีการวางแผนการใช้เงินล่วงหน้าในแต่ละเดือนอย่างไร ดังนั้น เมื่อคนเราให้ความสำคัญกับการตรวจเช็คสุขภาพร่างกายฉันใด ย่อมจะต้องให้ความสำคัญต่อการตรวจเช็ค “สุขภาพทางการเงิน” ของตนเองด้วยฉันนั้น

ทีนี้ คำถามแรก “ทำไปทำไมล่ะ ไอ้การตรวจสอบสุขภาพทางการเงินเนี่ย?” คำตอบคือ “เพื่อให้ทราบถึงทัศนคติและพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวคุณเองในปัจจุบัน อันจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนการเงินของคุณในอนาคตอีกด้วย” คำถามต่อมาน่าจะเป็น “แล้วมันทำยังไงล่ะ?” คำตอบคือ “สามารถทำได้ง่ายมากๆ โดยวันนี้ผู้เขียนขอนำเสนอแบบทดสอบสุขภาพทางการเงิน ซึ่งใช้เวลาทำประมาณ 5-10 นาที” ถ้าพร้อมแล้ว.. ให้อ่านคำถาม   12 ข้อด้านล่างนี้ แล้วเลือกคำตอบที่ซื่อสัตย์กับตนเองที่สุด อ๊ะๆ ห้ามแอบดูเฉลยด้านล่างก่อนนะ และห้ามตอบเข้าข้างตนเองเด็ดขาดนะเจ้าคะ โอเค! สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ตั้งสติให้มั่น.. แล้วมาเริ่มกันเลยดีกว่าจ้า…

  1. ปัจจุบันคุณมีรายได้หลักมาจากทางใด

ก. เงินเดือน / ค่าจ้าง
ข. รายได้จากธุรกิจส่วนตัว หรือการประกอบอาชีพอิสระ
ค. ไม่มีรายได้ประจำ

  1. นอกจากรายได้ในข้อ 1 แล้ว คุณยังมีรายได้มาจากแหล่งอื่นอีกหรือไม่

ก. มี… ทั้งยังแน่นอนและต่อเนื่อง
ข. มี… แต่รายได้ก็ไม่ค่อยแน่นอน
ค. ไม่มี

  1. โดยทั่วไป คุณจะ…

ก. แบ่งเงินออมไว้ก่อน เหลือแล้วค่อยใช้
ข. ใช้ก่อน เหลือแล้วค่อยออม
ค. อยากออมนะ แต่ไม่เคยมีเงินพอใช้ถึงสิ้นเดือนเลย

  1. ที่ผ่านมาคุณออมเงินคิดเป็นร้อยละเท่าใดของรายได้ต่อเดือน

ก. มากกว่า 20%
ข. 10% – 20% 
ค. น้อยกว่า 10%

  1. ถ้าคุณได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท คุณจะ…

ก. เก็บไว้ โดยฝากธนาคารหรือลงทุนทั้ง 10,000 บาท
ข. แบ่งไปออมสัก 5,000 บาท และแบ่งไว้ใช้อีก 5,000 บาท
ค. ใช้เงินซื้อของที่อยากได้ทั้งหมด

  1. ปัจจุบันคุณมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่ทำให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่มีรายได้ นานที่สุดกี่เดือน

ก. มากกว่า 6 เดือน
ข. ประมาณ 3 – 6 เดือน
ค. ไม่เกิน 3 เดือน

  1. เวลาคุณจะใช้เงินซื้ออะไรบางอย่าง คุณจะ…

ก. พิจารณาว่าจำเป็นและได้ใช้ จึงจะซื้อ
ข. หากมีการลดราคา 50% – 70% จึงจะซื้อ
ค. อยากได้ก็ซื้อ

  1. ในแต่ละเดือนคุณมีภาระต้องชำระหนี้สินทุกประเภทคิดเป็นร้อยละเท่าใดของรายได้

 ก.     0 – 25%
 ข.     25 – 45%
 ค.     มากกว่า 45%

  1. ปัจจุบันคุณมีบัตรเครดิตที่มียอดคงค้างและต้องชำระดอกเบี้ยอยู่กี่ใบ

ก.     ไม่มีบัตร หรือไม่มียอดคงค้างเลย
ข.     1 – 2 ใบ
ค.     ตั้งแต่ 3 ใบ ขึ้นไป

  1. สมมุติว่าคุณมีหนี้อยู่หลายประเภท คุณคิดว่าหนี้ประเภทใดที่เป็นปัญหากับชีวิตของคุณมากที่สุด

ก.     เงินกู้ระยะยาว เช่น เงินกู้เพื่อซื้อบ้าน เงินกู้เรียน ฯลฯ
ข.     เงินกู้ระยะสั้น เช่น เงินกู้ค่าผ่อนชำระสินค้า สินเชื่อส่วนบุคคล ฯลฯ
ค.     เงินกู้นอกระบบ หรือหนี้บัตรเครดิต

  1. กรณีที่คุณเป็นเสาหลักของครอบครัวและไม่สามารถทำงานหารายได้ต่อไปในอนาคต คุณคิดว่าครอบครัวของคุณจะเป็นอย่างไร

ก. ไม่เดือดร้อน เพราะมีเงินออมและทำประกันชีวิตเอาไว้แล้ว
ข. เดือดร้อนพอประมาณ เพราะมีเงินออมและทำประกันชีวิตไว้บ้างนิดหน่อย
ค. เดือดร้อนแน่ เพราะขาดหลักประกันในชีวิต

  1. ถ้าด้วยฐานะและภาระต่างๆ ที่คุณยังมีอยู่ในปัจจุบัน คุณคิดว่าวิธีการใดต่อไปนี้ที่จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายการออมเงินของคุณได้

ก. นำเงินออมที่มีอยู่ไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้มากขึ้น
ข. เพิ่มรายได้ เพื่อเพิ่มเงินในการออม
ค. ลดค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มเงินในการออม

 

เอาล่ะ! เสร็จแล้ว ได้เวลาคิดคะแนนจากคำตอบแต่ละข้อที่เราตอบไป ตามด้านล่างนี้จ้า:
• ตอบข้อ ก ได้ 2 คะแนน
• ตอบข้อ ข ได้ 1 คะแนน
• ตอบข้อ ค ได้ 0 คะแนน

 

เฉลยผลการทดสอบ

0 – 7 คะแนน : คุณมีสุขภาพทางการเงิน ไม่ค่อยดี

มีสัญญาณบ่งบอกถึงความอ่อนแอในสุขภาพทางการเงินของคุณ อาจจะเป็นเพราะคุณมีมุมมอง ทัศนคติ และพฤติกรรมการใช้จ่ายที่มุ่งเน้นความสะดวกสบายในปัจจุบัน แต่หากคุณจะใช้จ่ายอะไร ลองพิจารณาถึงความจำเป็น พร้อมทั้งหาทางเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น เพียงเท่านี้… สุขภาพทางการเงินของคุณก็จะแข็งแรง เป้าหมายชีวิตและเป้าหมายทางการเงิน ก็จะเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้

8 – 16 คะแนน คุณมีสุขภาพทางการเงิน ปานกลาง

จริงๆ แล้วสุขภาพทางการเงินของคุณอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป แต่เพื่อความไม่ประมาท การเพิ่มความระมัดระวังด้านการใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น จะช่วยเพิ่มพูนเงินออมหรือเงินลงทุน ส่งผลให้สุขภาพทางการเงินของคุณมีความแข็งแรงมากขึ้น เป็นการสร้างความมั่งคั่งมั่นคงให้กับตนเอง และบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้

17 คะแนนขึ้นไป คุณมีสุขภาพทางการเงิน ดีมาก

ขอแสดงความยินดี… คุณมีสุขภาพทางการเงินแข็งแรงดีมาก อาจจะเป็นเพราะคุณมีมุมมอง ทัศนคติ และพฤติกรรมเกี่ยวกับการหารายได้และการใช้จ่ายที่ดี อีกทั้งยังมีวินัยในการออมสูง จึงทำให้คุณมีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้ แต่เพื่อความไม่ประมาท คุณควรรักษาสิ่งดีๆ เหล่านี้ไว้ พร้อมทั้งเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้ตนเองด้วยการออมและลงทุนอย่างต่อเนื่อง สุขภาพทางการเงินของคุณจะแข็งแรงอย่างนี้ตลอดไป

 

                เห็นมั้ยละคะว่า… การตรวจสุขภาพทางการเงินนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วมากๆ แถมยังมีประโยชน์ทำให้เราได้ทราบว่าตนเองมีพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างไร และทราบอีกด้วยว่าเรามีทัศนคติต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิตอนาคตอย่างไร ดังนั้น ลองนำคำแนะนำที่เขียนอธิบายไว้จากผลการตรวจสุขภาพทางการเงินแต่ละระดับไปลองปรับใช้ดูกับตนเอง เผื่อว่าจะได้ผลเหมือนอย่างที่ผู้เขียนเคยลองใช้เป็นแนวทางกับตนเองมาแล้ว ซึ่งใช้ได้ผลดีมากๆ โดยสามารถนำมาวางแผนการใช้จ่ายของตนเองในแต่ละเดือน ปรับปรุงวิถีการใช้จ่ายจากที่เคยหน้ามืดของตนเองให้ดีขึ้น และก้าวข้ามพ้นวิกฤติการใช้เงินแบบเดือนชนเดือนไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ สุดท้ายผู้เขียนจึงขอฝากทิ้งท้ายไว้สักนิดว่า นอกจากเราต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพร่างกายของเราให้ดีเพื่อที่จะสามารถทุ่มเททำงานได้อย่างเต็มที่แล้วนั้น เราย่อมต้องดูแลสุขภาพทางการเงินของเราด้วยเช่นกัน เพราะสุขภาพทางการเงินที่สมบูรณ์แข็งแรงย่อมเป็นหนทางที่จะนำท่านไปสู่อิสรภาพทางการเงินที่สดใสได้ในอนาคต

Share this article

Latest.

People at Kenan: คุณจารุศรี จิรวิสิฐกุล

การศึกษาคือรากฐานสำคัญของ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ