เราอาจคุ้นเคยกับคำว่า “เก็บเงินซื้อของ” แต่เมื่อเรามีภาระที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง และหลายอย่างนั้นมีความจำเป็นต้อง “ใช้ก่อนจ่ายทีหลัง” (เครดิต) ดังนั้น เราจะมีวิธีในการบริหารการเงินของตนเองอย่างไร เพื่อให้เราเป็นลูกหนี้อย่างฉลาด
ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่า ทำอย่างไรลูกหนี้อย่างเราทั้งหลายจึงจะไม่เกิดปัญหาตามมาหลังการกู้ คำตอบก็คือ เป็นลูกหนี้อย่างฉลาดนั่นเอง
การเป็นลูกหนี้อย่างฉลาดต้องรู้ก่อนว่า เงินกู้นั้นมีกี่ประเภท แต่ละประเภทเหมาะกับเราหรือไม่ หากจะกู้ต้องกู้แบบไหนและเท่าไหร่จึงจะพอ…
เงินกู้มีกี่ประเภท? เงินกู้หรือเรียกอีกชื่อว่า “สินเชื่อ” สามารถแบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ สำหรับกู้ยืมเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล ดังนี้
ในการกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อซื้อบ้านและที่ดิน โดยใช้บ้านและที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยธนาคารจะคำนวณดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก หมายความว่า ดอกเบี้ยจะถูกคิดตามเงินต้นที่ค้างชำระอยู่ และดอกเบี้ยจะลดลงเรื่อยๆ ตามเงินต้นที่ลดลง ยิ่งผู้กู้ผ่อนชำระเร็วมากเท่าใดก็จะนำไปลดเงินต้นได้มากขึ้นเท่านั้น สำหรับสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านและที่ดิน ธนาคารมักส่งเสริมการขายโดยกำหนด อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่ำในช่วงแรกในระยะเวลาที่กำหนด หลังจากนั้นจะคิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราต่ำสุดเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate หรือ MLR) เช่น อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2% ในปีแรก 3% ในปีที่สอง หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปีจนครบอายุสัญญา เป็นต้น
· สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
ในการกู้ยืมเงินบริษัทเช่าซื้อรถยนต์ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังคงเป็นของบริษัท จนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้หมด โดยจะคำนวณดอกเบี้ยแบบรวมเงินต้น คือนำเงินต้นและดอกเบี้ยมารวมกัน แล้วนำมาแบ่งเฉลี่ยเป็นรายงวดเท่าๆ กันทุกงวดตลอดอายุสัญญา ซึ่งผู้กู้จะต้องผ่อนจ่ายทุกงวดเท่ากัน อัตราดอกเบี้ยที่คิดเป็นอัตราคงที่ โดยที่เงินต้นคงเดิมไม่ว่าจะผ่อนเป็นระยะเวลาเท่าใด ดังนั้นแม้ผู้กู้จะผ่อนชำระเร็วขึ้นจากที่กำหนดในสัญญาก็ไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ เนื่องจากจำนวนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายถูกกำหนดไว้แล้ว เงินกู้ประเภทนี้จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเปอร์เซ็นต์คงที่ต่อปี เช่น 4% ต่อปี หรือ 4.25% ต่อปี หรือ 4.75% ต่อปี เป็นต้น
· สินเชื่อส่วนบุคคล
ในการกู้ยืมเพื่อบริโภคเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ได้แล้วแต่ผู้กู้ เช่น กู้ยืมเพื่อซื้อโทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องเสียง เพื่อการท่องเที่ยวหรือเพื่อการศึกษา โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน การคำนวณดอกเบี้ยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ คำนวณแบบลดต้นลดดอก และคำนวณแบบรวมเงินต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละธนาคารและสถาบันการเงิน ปัจจุบันธนาคารและสถาบันการเงินมักจะคำนวณดอกเบี้ยแบบรวมเงินต้น โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อเดือน เช่น 0.8% ต่อเดือน หรือ 1% ต่อเดือน เป็นต้น ผู้กู้สามารถเลือกผ่อนชำระเป็นรายงวด (รายเดือน) ตามระยะเวลาใดขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้กู้ เช่น 12 งวด 24 งวด เป็นต้น
· สินเชื่อบัตรเครดิต
เป็นการกู้ยืมอีกรูปแบบหนึ่งแต่แตกต่างจากการกู้ยืมทั่วไป เนื่องจากบัตรเครดิตมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย หากผู้ถือบัตรชำระเงินในช่วงระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยครบจำนวน ผู้ถือบัตรก็จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ในขณะที่สินเชื่อประเภทอื่นๆ คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันแรกที่เริ่มกู้ และบัตรเครดิตมีไว้ซื้อสินค้าเพื่อความสะดวกไม่ใช่เพื่อถอนเงินสดล่วงหน้า
“แล้วจะเลือกกู้ประเภทไหนดีจึงจะเหมาะกับเรา?”
การจะกู้เงินเพื่อซื้อสินค้าอะไรสักอย่าง ต้องดูความพร้อมของผู้กู้เป็นสิ่งสำคัญ วัตถุประสงค์ของการใช้เงิน ความสามารถในการผ่อนชำระซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก รวมถึงลักษณะนิสัยของผู้กู้แต่ละบุคคล
หากท่านต้องการซื้อบ้าน ต้องศึกษาสินเชื่อบ้านแต่ละธนาคารว่า จะซื้อบ้านราคาเท่าไหร่และกู้เงินเท่าไหร่ โดยพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระของท่าน ทั้งระยะเวลาและจำนวนเงินต่อเดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน ควรมีรายได้ต่อเดือนมากกว่าอัตราการผ่อนต่อเดือนสูงถึง 3 เท่าของท่านและผู้กู้ร่วม และอัตราผ่อนชำระต่อเดือนไม่ควรเกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน นอกจากนี้ ควรพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่แต่ละธนาคารมีอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน สำหรับผู้กู้ที่มีรายได้แน่นอน ไม่ชอบเสี่ยง ก็ควรจะเลือกโปรแกรมที่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะเวลานาน หากบางคนกล้ายอมรับความเสี่ยงก็อาจจะเลือกโปรแกรมที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วง 1-2 ปีแรก หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว โดยสามารถรับความเสี่ยงได้ หากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น
หากท่านต้องการซื้อรถยนต์ ควรศึกษารายละเอียดของบริษัทเช่าซื้อรถยนต์อย่างละเอียด และคำนึงไว้เสมอว่าอัตราดอกเบี้ยรถยนต์นั้นเป็นแบบรวมต้น นั่นคือ การนำเงินต้นและดอกเบี้ยมารวมกัน แล้วนำมาแบ่งเฉลี่ยเป็นรายงวดเท่าๆ กันตลอดอายุสัญญา หากต้องการทราบว่าจะหาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของรถยนต์ได้อย่างไร ก็สามารถคำนวณเบื้องต้นแบบประมาณกันง่ายๆ คือ
อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์แบบรวมต้น x 2 เท่า = อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง
เช่น อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์เท่ากับ 4.00% ต่อปี เทียบเท่ากับ 4.0%x2 = 8% ต่อปี นั่นเอง
หากท่านต้องการซื้อความสุขของท่าน ปัจจุบันมีสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ มากมายให้เลือก โดยไม่ต้องเหนื่อยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพียงแค่มีรายได้ประจำต่อเดือนก็สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ วงเงินกู้สูง เรียกว่า กู้ง่าย-จ่ายคล่อง อนุมัติรวดเร็ว โดยวงเงินจะอยู่ที่ประมาณ 5 เท่าของเงินเดือน เลือกผ่อนชำระกี่งวดได้ตามความต้องการ
อย่างไรก็ตาม สินเชื่อส่วนบุคคลบางประเภทคิดดอกเบี้ยแบบรวมต้นในอัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อเดือน บางประเภทคิดดอกเบี้ยแบบลดต้น ลดดอก คิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวตามสภาวะตลาด ซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อดี-ข้อเสียในตัวมันเอง แบบรวมต้นไม่ว่าจะผ่อนเร็วขึ้นเท่าไร เงินต้นก็ไม่เปลี่ยนแปลงเพราะถูกกำหนดไว้แน่นอนอยู่แล้ว แบบลดต้นลดดอกยิ่งผ่อนเร็วเท่าไร ยิ่งลดเงินต้นเร็วเท่านั้น
ดังนั้น ท่านจึงควรศึกษาอย่างรอบคอบก่อนกู้เงินทุกครั้งและดูความเหมาะสมของท่านเป็นหลัก ไม่ควรกู้เงินจำนวนมากโดยที่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ จะเห็นว่าไม่ใช่เป็นเรื่องยากเพียงศึกาหลักเกณฑ์ให้ละเอียด หาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อรู้ทันกับความเป็นไปของสินเชื่อประเภทต่างๆ เข้าใจว่าดอกเบี้ยทำงานอย่างไร และรู้จักความสามารถในการหารายได้และการชำระหนี้ของตนเอง เพียงเท่านี้ก็สามารถเป็นลูกหนี้อย่างฉลาดได้แล้ว